คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2342/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้อง ฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยมีเจตนากระทำผิดดัง โจทก์ฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง ต้องห้าม ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยฐาน นำเงินตราไทยออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัตศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักกว่าพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ต้องด้วย พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 โดย กฎหมายมาตรานี้บัญญัติเกี่ยวกับโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดว่า…สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่ง ได้ รวมค่าอากรด้วย แล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปีหรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ศาลชั้นต้นปรับจำเลยเป็นเงินสี่เท่าของจำนวน เงินตรา ที่นำออกไปนอกราชอาณาจักรตาม กฎหมายแล้ว ซึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้ดุลพินิจ ศาลที่จะใช้ อำนาจปรับให้น้อยกว่านั้นหรือเป็นอย่างอื่นได้ ศาลฎีกาไม่อาจปรับให้น้อยลง หรือลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๑, ๖๒ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๓๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖, ๑๗ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๘ ทวิ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๑, ๖๒ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๘ ทวิ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ เรียงกระทงลงโทษ ฐานออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรรวมสองกระทง ปรับกระทงละ ๔๐๐ บาท ฐานนำเงินออกไป ปรับ ๔๐,๓๒๐ บาท รวมปรับ ๔๑,๑๒๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพโดยดี ปรานีลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงปรับ ๒๐,๕๖๐ บาท ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนและรางวัลร้อยละ ๓๐ กับ ๑๕ ของค่าปรับ แก่ผู้นำจับกับผู้จับตามลำดับสำหรับความผิดตามกฎหมายศุลกากร
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานนำเงินตราไทยออกไปนอกพระราชอาณาจักรอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรเพราะการข้ามฝั่งไทย – ลาว เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชาวบ้านตามหมู่บ้านชายแดนไทย – ลาว นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟังตามคำร้องสารภาพของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองไม่ควรลงโทษปรับจำเลยเป็น ๔ เท่าของเงินที่จำเลยนำออกนอกราชอาณาจักร สมควรจะลงโทษเบากว่านี้นั้น เห็นว่า ในข้อหานี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักกว่าพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ โดยกฎหมายมาตรานี้บัญญัติเกี่ยวกับโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดว่า.. สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ศาลชั้นต้นปรับจำเลยเป็นเงินสี่เท่าของจำนวนเงินตราที่นำออกไปนอกพระราชอาณาจักรตามกฎหมายแล้ว ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้ดุลพินิจศาลที่จะใช้อำนาจปรับให้น้อยกว่านั้น หรือเป็นอย่างอื่นได้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจปรับให้น้อยลง หรือลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share