แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกัน แต่วินิจฉัยว่าแม้โจทก์ผู้ซื้อจะครอบครองที่ดินมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์คง พิพากษายกฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น แต่ไปวินิจฉัยว่าการซื้อขายไม่สมบูรณ์ เพราะทำไม่ถูกแบบ และฟังไม่ได้ว่าซื้อขายกัน ซึ่งไม่มีประเด็นมาสู่ศาลอุทธรณ์ และไม่ปรากฎว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความข้อนี้ผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว จึงฝ่าฝืน ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 243 (3) ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงข้อนี้ตามมาตรา 250 ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นได้
ตกลงจะซื้อขายที่ดินกัน ชำระเงินราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว และส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อครอบครองมากว่า 10 ปีแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่า คู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะแก้ทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียแล้ว ผู้ซื้อคงครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิในฐานที่ได้ครอบครองมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า สามีจำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ๆชำระเงินและครอบครองที่พิพาทมา ๒๐ ปีแล้ว บัดนี้สามีจำเลยตาย จำเลยกลับไปรับมรดกแก้โฉนด เป็นชื่อจำเลย จึงขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนด แล้วใส่ชื่อโจทก์แทน
จำเลยต่อสู้ว่า ไม่ได้ขายที่พิพาทให้โจทก์ๆ เพียงแต่ทำนาที่พิพาทต่างดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อ้างเหตุว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับสามีจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขาย โจทก์ผู้ซื้อจะครอบครองมานานเท่าใด ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ
โจทก์อุทธรณ์ – ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การซื้อขายไม่สมบูรณ์ เพราะทำไม่ถูกแบบ และการซื้อขายพยานโจทก์ก็แตกกัน เมื่อการซื้อขายโจทก์สืบไม่สมแล้วก็ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองด้วยเป็นเจตนาเป็นเจ้าของ คงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางจันทร์ฟังไม่ได้นั้น ไม่มีประเด็นมาสู่ศาลอุทธรณ์ และไม่ปรากฎว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยความข้อนี้ผิดต่อกฎหมายอย่างใด ฉะนั้นคำวินิจฉัยจึงฝ่าฝืน ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔๓(๓) แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องให้ทำนาต่างดอกเบี้ย แต่เป็นเรื่องที่นายจันทร์ได้ทำสัญญาขายที่รายพิพาทให้โจทก์ โดยได้รับเงินโจทก์และมอบที่นาส่วนของตนให้โจทก์ ครอบครองทำมากว่า ๑๐ ปีแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้เป็นที่เห็นได้ว่า คู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะแก้ทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์คงครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า ๑๐ ปี ดังนี้ก็ย่อมได้กรรมสิทธิในฐานที่ได้ครอบครองมา
จึงพิพากษากลับ ให้โจทก์ชนะ