แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย สิทธิของโจทก์จึงต้องถูกจำกัดไม่เกินสิทธิทั้งหลายบรรดาที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ เมื่อผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2523 แล้ว โจทก์มาฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2524 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-0004บุรีรัมย์ ด้วยความประมาทเลี้ยวขวาตัดหน้ารถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์นำรถที่รับประกันภัยไว้ไปซ่อมเสียค่าซ่อม 135,000 บาท เสียค่าจ้างลากรถไปอู่ซ่อม 750 บาท โจทก์ได้ชำระเงินแทนผู้เอาประกันภัยไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 135,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,332 บาท รวมเป็นเงิน 145,082 บาท พนักงานของโจทก์ได้รายงานให้กรรมการ ผู้อำนวนการของโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 13พฤศจิกายน 2523 ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 145,082 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เหตุรถชนกันเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้จำเลยที่ 2 และ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป และโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์135,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่28 พฤศจิกายน 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3
โจทก์อุทธรณื
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 90,750 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นายสมพร ชำนินา เจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน70-0020 สุโขทัย ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า “ในชั้นสอบสวนข้าฯ และเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้ตกลงกันว่าให้บริษัทผู้รับประกันภัยทั้งสองฝ่ายว่ากล่าวกันเองปรากฏตามสำเนาประจำวันเอกสารหมาย ป.ล.5” ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ป.ล. 5 ซึ่งตรงกับเอกสารหมายป.จ.2 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2523 นายคมสันต์ เรืองชวโรจน์พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า “ในวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ข้าฯ ทราบจากพนักงานสอบสวนว่าเจ้าของรถคันหมายเลขทะเบียนบุรีรัมย์ได้นำทะเบียนรถมาแสดงต่อพนักงานสอบสวน” ตามหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย ป.จ.1ในช่วงวันดังกล่าว ระบุชื่อผู้ประกอบการขนส่ง คือนายสมบัติสาครไทย จำเลยที่ 2 ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวก็ได้ข้อเท็จจริงตรงกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และนายสมชัย บุญทองที่ว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วรถยนต์ถูกยึดไว้จำเลยที่ 2 ไปติดต่อกับพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงจากคำพยานและเอกสารดังกล่าว เชื่อได้ว่านายชำนิ เจ้าของรถที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการทำละเมิดในคดีนี้ว่าใคร ตั้งแต่วันที่14 สิงหาคม 2523 แล้ว ดังนั้นแม้จะเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเองยังต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 กรณีของโจทก์ที่ฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 880แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิของโจทก์จึงต้องถูกจำกัดไม่เกินสิทธิทั้งหลายบรรดาที่นายสมพรผู้เอาประกันมีอยู่โดยมูลหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม2524 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่นายสมพรผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีของโจทก์จึงขาดอายุความปัญหาตามฎีกาและคำแก้ฎีกาในเรื่องอายุความที่ว่า พนักงานของโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด และจะต้องนับแต่วันที่พนักงานของโจทก์รู้หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รู้ถึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย และไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด เนื่องจากคดีของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 คดีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในปัญหาอื่นอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ค่าทนายความในศาลชั้นต้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.