คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339-2340/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่ผู้ชายพูดกับผู้หญิงในลักษณะของการให้สัมภาษณ์เป็นใจความว่า ผู้เสียหายได้ ลักลอบได้เสียกับพระภิกษุ ช. เจ้าอาวาส วัดจอมบึง ซึ่ง เป็นเจ้าคณะอำเภอมาเปิดให้บุคคลอื่นฟังที่บ้าน อ. และ ส. ซึ่ง มิใช่ที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าควรจะดำเนินการอย่างใดเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ต่อ พระพุทธศาสนา และหาทางขจัดความมัวหมองในพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป หากพระภิกษุ ช. กระทำผิดจริงก็ควรจะสึกออกไป หากไม่จริงก็เอาผิดกับผู้พูดเรื่องนี้ และต่อมาได้ มีการร้องเรียนต่อ ศึกษาธิการอำเภอ จอมบึง เกี่ยวกับพฤติการณ์ของพระภิกษุ ช. และได้ มีบันทึกเสนอต่อ ตามลำดับจนกระทั่งถึง เจ้าคณะภาคฝ่ายมหานิกายจังหวัด ราชบุรี เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง จึงถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรือเสียหายแต่ เป็นการกระทำในการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วย ความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)ทั้งนี้เพื่อขจัดข่าวลือในทางที่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมหมดสิ้นไปจำเลยไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยหมิ่นประมาทใส่ความนางจันทร์ มหาทรัพย์ ผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณา โดยจำเลยนำแถบบันทึกเสียงใจความว่า “ผู้เสียหายได้ลักลอบได้เสียกันหลวงพ่อชม เจ้าอาวาสวัดจอมบึง” มาเปิดให้ชาวบ้านฟัง เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗, ๘ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ประกอบมาตรา ๓๒๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๗, ๘ จำคุกสำนวนละ ๖ เดือน และปรับ ๑,๕๐๐ บาท รวม ๒ สำนวน จำคุก ๑ ปี ปรับ ๓,๐๐๐ บาท จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยได้นำแถบบันทึกเสียงที่ผู้ชายพูดกับผู้หญิงในลักษณะของการให้สัมภาษณ์เป็นใจความว่า “ผู้เสียหายได้ลักลอบได้เสียกับพระภิกษุชมเจ้าอาวาสวัดจอมบึง ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ มาเปิดให้นางแอ๊ด นางละออ และนางอำฟังที่บ้าน นางละออ และเปิดให้นางละม่อมกับนางเฟื้อฟสังที่บ้านนายสนองซึ่งมิได้เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่า ควรจะเนินการอย่างใดเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ต่อพระพุทธศาสนาและหาทางขจัดความมัวหมองในพระพุทธศาสนาให้สิ้นไป จนกระทั่งจำเลยได้รับคำแนะนำจากนายลอยซึ่งเป็นครูว่า หากพระภิกษุชมกระทำผิดจริงก็ควรสึกออกไป หากไม่เป็นความจริงก็เอาผิดกับนางสาครซึ่งเป็นผู้พูดเรื่องนี้ ต่อมาหลังเกิดเหตุเพียง ๓ วัน นางสาครเจ้าของเสียงในแถบบันทึกเสียงไปร้องเรียนด้วยวาจาต่อศึกษาธิการอำเภอจอมบึงเกี่ยวกับฟฤติการณ์ของพระภิกษุชมไปในทำนองชู้สาว ศึกษาธิการอำเภอจอมบึงบันทึกเสนอผ่านขึ้นตอนจนกระทั่งถึงเจ้าคณะภาคฝ่ายมหานิกายจังหวัดราชบุรี เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้เสียหายให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นการกระทำในการแสดงข้อความโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๓) ทั้งนี้เพื่อขจัดข่าวลือในทางที่จะทำให้พุทธศาสนาเสื่อมหมดสิ้นไปจำเลยไม่มีความผิด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share