คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินที่โจทก์ต้องใช้ไปในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์พิพาทถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อผลงานของโจทก์ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์มีมากน้อยเพียงใดย่อมจะตกแก่โจทก์โดยตรงการที่จำเลยกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็ไม่มีผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ของโจทก์แต่อย่างใด เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายไปตามความจำเป็นและพอใจของโจทก์เองหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องสูญเสียผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 64 ที่ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะมาเรียกร้องจากจำเลยได้ไม่
ที่โจทก์อ้างว่าต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้าเนื่องจากงานที่จำเลยทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้คุณภาพเพราะภาพไม่คมและเสียงไม่ชัดเจนนั้น ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่มาขอเช่าม้วนวิดีโอพิพาทในคดีนี้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์แสดงว่าประชาชนผู้บริโภคทราบว่าม้วนวิดีโอพิพาทไม่ใช่เป็นสินค้าที่เจ้าของลิขสิทธิ์คือโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้น ฉะนั้นข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้าเพราะสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจึงตกไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจากผลการละเมิดแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 200,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้ค่าขาดรายได้จากการอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำเป็นเงิน 12,000 บาท กับค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิเป็นเงิน 20,000 บาท แต่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับในคดีอาญาจำนวน 12,500 บาท จึงให้นำมาหักออกพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินจำนวน 19,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2542)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง”เด็กระเบิด ยืดแล้วยึด” จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการให้เช่าวิดีโอ ใช้ชื่อร้านว่า “ศรีกรุงวีดีโอ” ปรากฏตามใบอนุญาตเอกสารหมายจ.24 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2539เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปค้นร้านของจำเลยที่ 1 พบว่า จำเลยที่ 1 นำเอางานภาพยนตร์เรื่อง “เด็กระเบิด ยืดแล้วยึด” ไปทำซ้ำลงในโสตทัศนวัสดุ (วีดีโอเทป)โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำออกให้ประชาชนทั่วไปเช่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายแยกมาเป็น3 ประการด้วยกัน คือ ประการแรก ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องใช้เงินลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผลงานของโจทก์ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชน รวมถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงทางการค้าเพราะโสตทัศนวัสดุ(วีดีโอเทป) ที่จำเลยทำซ้ำออกให้เช่านั้นปรากฏว่าภาพไม่คมเสียงไม่ชัดเป็นเงิน100,000 บาท ค่าเสียหายส่วนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้กำหนดให้โจทก์ ประการที่สอง ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องขาดรายได้จากการอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์เป็นเงิน 50,000 บาท ค่าเสียหายส่วนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 12,000 บาท ประการที่สามค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นเงิน 50,000 บาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้เป็นเงิน 20,000 บาท ค่าเสียหายในประการที่สามนี้โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า เงินที่โจทก์ใช้ลงทุนในด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผลงานภาพยนตร์พิพาทได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักของประชาชนถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เห็นว่า เงินที่โจทก์ต้องใช้ไปในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์พิพาทถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อผลงานของโจทก์ผลประโยชน์ที่เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์มีมากน้อยเพียงใดย่อมจะตกแก่โจทก์โดยตรง การที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ก็ไม่มีผลกระทบถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ของโจทก์แต่อย่างใด เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องจ่ายไปตามความจำเป็นและพอใจของโจทก์เอง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องสูญเสียผลประโยชน์ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537ที่ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะมาเรียกร้องจากจำเลยได้ไม่ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ต่อมาว่า โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้าเนื่องจากงานที่จำเลยทั้งสองทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไม่ได้คุณภาพเพราะภาพไม่คมและเสียงไม่ชัดเจนนั้น เห็นว่า นายเดชาวัฒน์ อินทรพิพัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ไว้ชัดเจนว่าพยานคิดว่าผู้ที่มาขอเช่าม้วนวีดีโอพิพาทในคดีนี้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นวีดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แสดงว่าประชาชนผู้บริโภคทราบว่าม้วนวีดีโอพิพาทไม่ใช่เป็นสินค้าที่เจ้าของลิขสิทธิ์ คือโจทก์เป็นผู้จัดทำขึ้น ฉะนั้นข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางการค้าเพราะสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจึงตกไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ให้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ขอมาในประการแรกนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดรายได้จากการที่จำเลยทั้งสองทำซ้ำและนำออกให้เช่าในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 12,000 บาท นั้น โจทก์จะอุทธรณ์ขอค่าเสียหายเพิ่มอีก 38,000 บาท ได้หรือไม่ เห็นว่า ค่าเสียหายในข้อนี้ โจทก์หาได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การทำละเมิดของจำเลยทั้งสองครั้งนี้ยังส่งผลถึงความเสียหายอันเกิดจากการสูญเสียผลประโยชน์ในอนาคตที่โจทก์สามารถนำงานภาพยนตร์อันเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ทำให้โจทก์ขาดรายได้เป็นการสูญเสียผลประโยชน์ในอนาคต โจทก์จึงขอค่าเสียหายในข้อนี้เป็นเงิน 38,000 บาท นั้น โจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายส่วนนี้มาในฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ในข้อนี้จึงไม่ใช่เป็นข้อที่ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share