คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ และไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ และขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับ และพุ่งเข้าชนกำแพงรั้วบริษัท ท. เป็นเหตุให้นาย ช. ได้รับอันตรายสาหัส และนางสาว ต. ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยขับถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157, 160 พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นาย บ. บิดานาย ช. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นาย บ. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เท่านั้น และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและพิพากษาจำคุกจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อโจทก์ร่วมต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 291, 300, 91 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157, 160 พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37
ระหว่างพิจารณา นายบัญชาบิดาของนายไชยรัตน์ผู้เสียหายยื่นคำร้องของเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4) (ที่ถูกต้องปรับบท มาตรา 157, 160 วรรคสามด้วย) พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 (ที่ถูกมาตรา 66) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 37 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่แสดงใบใบอนุญาตขับรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานไม่จัดให้มีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี และปรับ 21,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 10,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยนำเงินมาวางชำระให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อบรรเทาความเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดชลบุรี ทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคม มีกำหนด 12 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาที่คุมประพฤติ (ที่ถูกต้องระบุ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ด้วย) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ และไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ และขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ที่นายไชยรัตน์ขับ และพุ่งเข้าชนกำแพงรั้วบริษัท ทู ดู ทอย จำกัด เป็นเหตุให้นายไชยรัตน์ได้รับอันตรายสาหัส และนางสาวเตือนใจซึ่งนั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยขับถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157, 160 พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37 ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายบัญชาบิดานายไชยรัตน์ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายบัญชาเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เพราะตามฟ้องระบุว่านายไชยรัตน์ได้รับอันตรายสาหัส นายไชยรัตน์จึงเป็นผู้เสียหายแต่เฉพาะในข้อหาดังกล่าวเท่านั้น ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและพิพากษาจำคุกจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อโจทก์ร่วมต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยต่อไป
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และยกฎีกาของจำเลย ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share