คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10941/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นการปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์หรือธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หากสิ่งที่ทำขึ้นมีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้พอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา ก็ถือได้ว่าเป็นการทำปลอมขึ้น โดยไม่จำต้องถึงกับต้องพิจารณาดูหรือจับต้องเสียก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นของปลอม สำหรับธนบัตรปลอมของกลางเห็นได้ชัดว่าทำขึ้น โดยมีรูปร่างลักษณะ ขนาด สีสัน ลวดลายและตัวอักษรบนธนบัตรเหมือนกับธนบัตรฉบับละ 1000 บาท ที่แท้จริงทุกประการ แม้สีสัน ความคมชัดและกระดาษแตกต่างจากของจริงไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะในการทำปลอมตามปกติย่อมต้องมีความแตกต่างจากของจริงไม่มากก็น้อย จะให้เหมือนของจริงไปเสียทุกอย่างย่อมไม่ได้และวัสดุที่ใช้ย่อมต้องด้อยคุณภาพกว่าของจริง หากแต่รูปลักษณะภายนอกก็เพียงพอต่อการลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตราแล้ว จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หาใช่มีเจตนาเพียงทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 249 วรรคแรก เท่านั้นไม่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบธนบัตรของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 1,800 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 1,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ดาบตำรวจธีรยุทธ จับกุมจำเลยและยึดได้ธนบัตรปลอมชนิด 1000 บาท ซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้ จำนวน 18 ฉบับ ที่จำเลยถ่ายสำเนามาจากธนบัตรที่แท้จริงฉบับเดียว ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสแกนและเครื่องพริ้นเตอร์ กระดาษที่ใช้เป็นชนิดกระดาษ A4 เป็นของกลาง คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นการปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์หรือธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หากสิ่งที่ทำขึ้นมีลักษณะอย่างเดียวกับเงินตราที่รัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้พอที่จะลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตรา ก็ถือได้ว่าเป็นการทำปลอมขึ้นโดยไม่จำต้องทำปลอมถึงกับต้องพิจารณาดูหรือจับต้องเสียก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นของปลอม สำหรับธนบัตรปลอมของกลางเห็นได้ชัดว่าทำขึ้นโดยมีรูปร่างลักษณะ ขนาด สีสัน ลวดลายและตัวอักษรบนธนบัตรเหมือนกับธนบัตรฉบับละ 1000 บาท ที่แท้จริงทุกประการ แม้สีสัน ความคมชัดและกระดาษแตกต่างจากของจริงไปบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะในการทำปลอมตามปกติย่อมต้องมีความแตกต่างจากของจริงไม่มากก็น้อยจะให้เหมือนของจริงไปเสียทุกอย่างย่อมไม่ได้และวัสดุที่ใช้ย่อมต้องด้อยคุณภาพกว่าของจริง หากแต่รูปลักษณะภายนอกก็เพียงพอต่อการลวงตาให้เห็นว่าเป็นเงินตราแล้ว จึงเป็นทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ ในการตรวจค้นและจับกุมจำเลยแม้เป็นเรื่องบังเอิญ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อนำออกใช้หรือลวงบุคคลใดให้หลงเชื่อว่าธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรที่แท้จริงมาก่อน ก็มิใช่เป็นเหตุผลว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่รู้สำนึกในสิ่งที่กระทำว่าเป็นการทำเงินตราปลอมซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ที่จำเลยนำสืบว่าเป็นการทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวอย่างการศึกษา คงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนและไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องศึกษาด้วยการกระทำผิดกฎหมายและยังนำติดตัวออกไปนอกห้องเรียนเช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีเจตนาทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หาใช่มีเจตนาเพียงทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตราอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 วรรคแรก เท่านั้นไม่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share