แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้จำนำทรัพย์สินไว้แก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินที่จำนำไปจากสถานที่เก็บรักษาโดยอ้างว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของบุคคลอื่นย่อมเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ เพราะเป็นการทำให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการจำนำลดจำนวนลงหรือหมดสิ้นไป จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 349
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 ลงโทษจำเลยในสำนวนแรกจำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยในสำนวนที่ 2 จำคุก 1 ปี รวมโทษจำคุก 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่าพนักงานอัยการจังหวัดศรีสะเกษฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหาย จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์สำนวนแรกและจำเลยสำนวนที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำนวนแรกโจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้จำนำสินค้าตามฟ้องไว้แก่ผู้เสียหายโดยไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำต่อกันอีก เพราะจำเลยจะต้องเก็บทรัพย์ที่จำนำไว้ในยุ้งฉางของนายสมโภชน์ซึ่งผู้เสียหายได้เช่าจากนายสมโภชน์ตามเอกสารหมาย ป.จ.6นั้นเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาจำนำตามเอกสารหมาย ป.จ.5 และสัญญาเช่าโกดังตามเอกสารหมาย ป.จ.6 แต่อ้างว่าถูกพนักงานของผู้เสียหายหลอกให้จำเลยลงชื่อในกระดาษแบบพิมพ์อ้างว่าจะเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้ 3,000,000 บาท เพื่อให้จำเลยนำไปชำระหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากันทรลักษ์ โดยมีนายคฑาวุธแซ่เตีย เบิกความสนับสนุน แต่จำเลยก็ไม่ได้อ้างหลักฐานการเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากันทรลักษ์ มาแสดง นอกจากนี้จำเลยเป็นพ่อค้าติดต่อการค้ากับธนาคารมานาน ไม่น่าเชื่อว่า จำเลยจะถูกพนักงานของผู้เสียหายหลอกให้ลงชื่อในกระดาษแบบพิมพ์ตามที่จำเลยอ้าง จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้จำนำข้าวโพดเมล็ดตากแห้ง มันสำปะหลังเส้น ข้าวเปลือกชนิดต่าง ๆ ตามฟ้องโจทก์ไว้แก่ผู้เสียหายจริง จำเลยอ้างว่าทรัพย์สินที่จำนำไม่ได้ระบุว่ามีจำนวนอยู่เท่าใด และอยู่ในโกดังยุ้งฉาง หรืออาคารโรงสีของผู้ใดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจำนำเอกสารหมาย ป.จ.5 ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในที่เก็บรักษา บนที่ดินโฉนดที่40, 41 ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และมีนายสมโภชน์ แซ่เตีย เป็นผู้รักษาทรัพย์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีสัญญาเช่าโกดังสินค้าที่ผู้เสียหายเป็นผู้เช่า นายสมโภชน์ แซ่เตียและนายคฑาวุธ แซ่เตีย เป็นผู้ให้เช่าตามเอกสารหมาย ป.จ.6ซึ่งมีข้อความว่าโกดังสินค้า ยุ้งฉาง และอาคารโรงสีไทยนต์ ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวสนับสนุน จึงต้องฟังว่าทรัพย์สินที่อยู่ในอาคารโกดังบนที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำนำตามเอกสารหมายป.จ.5 ที่จำเลยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในโกดังของนายสมโภชน์และนายคฑาวุธ แซ่เตีย เป็นของนายธนาการ แซ่เตีย ซึ่งมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ให้นายธนาการ แซ่เตีย นั้น ได้ความจากนายธนาการ พยานจำเลยว่า ทรัพย์ดังกล่าวมีสัญญาฝากทรัพย์และนายสมโภชน์ นายคฑาวุธ ได้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์ดังกล่าวโดยระบุให้นายธนาการเป็นผู้รับประโยชน์ พยานได้นำกรมธรรม์ประกันภัยฝากไว้กับนายสอาด แต่จำเลยก็ไม่ได้อ้างสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ และจำเลยก็ไม่ได้ถามค้านนายสอาดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวด้วย ข้อนำสืบจำเลยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ แม้จะมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ก็ได้ความว่า นายธนาการฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 9 หรือ 10 มีนาคม 2526 และศาลได้พิพากษาตามยอมก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2526 โดยไม่มีการต่อสู้คดีกันเลย จึงทำให้เป็นข้อระแวงสงสัยยิ่งขึ้น และนายธนาการก็ไม่ได้ฟ้องนายสมโภชน์และนายคฑาวุธซึ่งเป็นผู้รักษาทรัพย์และผู้ให้เช่าโกดังให้ส่งมอบทรัพย์ให้นายธนาการ แต่กลับฟ้องจำเลย จึงยิ่งทำให้ไม่น่าเชื่อข้อนำสืบของจำเลย จำเลยอ้างว่านายสอาดพยานโจทก์มิได้เบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อนายตามใจ ขำภโต กรรมการผู้มีอำนาจของผู้เสียหายนั้น เห็นว่านายสอาดเบิกความว่านายตามใจ ขำภโต กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารผู้เสียหายเป็นผู้ทำหนังสือมอบอำนาจ ตามเอกสารหมาย ป.จ.1จึงต้องฟังว่า นายตามใจได้ลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ ปรากฏข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ข้อ 6 ให้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษและมอบคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวจึงต้องฟังว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์คดีนี้โดยชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้จำนำทรัพย์สินไว้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว การที่จำเลยกับพวกร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินที่จำนำไปจากสถานที่เก็บรักษาโดยอ้างว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของนายธนาการ จึงย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายผู้รับจำนำเพราะเป็นการทำให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการจำนำลดจำนวนลงหรือหมดสิ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะสำนวนแรกไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
สำนวนที่ 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะในประเด็นที่ว่าได้มีการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าธนาคารกรุงไทย จำกัดร่วมรู้เห็นให้จำเลยขนย้ายทรัพย์ที่จำนำ จึงมีลักษณะสมคบหรือยินยอมให้จำเลยกระทำได้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด จึงไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้เสียหายได้ยินยอมให้จำเลยขนย้ายทรัพย์ที่จำนำ จำเลยกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายยินยอมก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ฎีกาจำเลยจึงเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในสำนวนแรก ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์