คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ในหนังสือสัญญาให้ที่ดินจะมีข้อความระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน แต่ยังมีข้อความระบุไว้อีกว่าจำเลยที่ 2ผู้รับให้ต้องรับอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ของจำเลยทั้งสองอีก 3 คนด้วย ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่า เป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 จำต้องปฏิบัติตามเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้ง 3 คนแทนจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบด้วย ถือได้ว่าการให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 ยกที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยมีค่าตอบแทนก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาต่อโจทก์ โดยที่จำเลยที่ 2มิได้รู้ถึงหนี้ดังกล่าวมาก่อน จำเลยที่ 2 จึงมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 407,772.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ คงมีแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 51242 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพียงแปลงเดียว แต่จำเลยที่ 1 ได้ยกให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไป การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทางให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 51242 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างโดยให้จำเลยที่ 2โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนสู่จำเลยที่ 1 ดังเดิมหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การโอนที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1กระทำโดยมีค่าตอบแทน คือ จำเลยที่ 2 ยอมจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรสและยอมเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 3 คน ของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาตลอดมาจนถึงปัจจุบันหนี้ตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังวันโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่เป็นการทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบจำเลยทั้งสองใช้สิทธิโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นการโอนให้โดยเสน่หานั้น เห็นว่า แม้ในหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 5 จะมีข้อความระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนก็จริง แต่ในข้อ 6 ของสัญญาดังกล่าวยังมีข้อความระบุไว้อีกต่างหากว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเกิดแต่จำเลยที่ 1 อีก 3 คนด้วยซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควรในระหว่างบุตรยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่าเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2จำต้องปฏิบัติตามเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้ง3 คน แทนจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบด้วยกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยที่ 1 ใช้มูลค่าของที่ดินพิพาทส่วนของตนมอบแก่จำเลยที่ 2 ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาของบุตรผู้เยาว์ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำนั่นเอง จึงถือได้ว่าการให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทน อนึ่ง โจทก์กล่าวอ้างด้วยว่า สัญญาตามข้อ 6 ในเอกสารหมาย จ.6 ที่ว่า “ผู้รับให้ต้องรับภาระอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงประภัสสร เด็กชายประภาสและเด็กหญิงฉัตรศรีด้วย”นั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่แสดงว่าใครจะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 3 คนเท่านั้น เห็นว่า ถ้าเป็นเจตนาดังโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองควรจะระบุข้อตกลงดังกล่าวไว้ในสัญญาหย่าหรือบันทึกต่อท้ายไว้ในคำขอจดทะเบียนหย่ามากกว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่ต้องระบุไว้ในหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมิได้เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูแม้แต่น้อย
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าขณะจำเลยที่ 2รับเอาที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 ยกให้นั้น จำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาไม่สุจริตทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบโดยไม่สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินแปลงพิพาทได้นั้น เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 มีการจดทะเบียนการให้เมื่อวันที่21 กรกฎาคม 2523 แต่หนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2526ตามลำดับ อันเป็นเวลาภายหลังจากมีการโอนที่ดินพิพาทแล้ว และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้ถึงหนี้จำนวนดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงฟังไม่ได้ว่า ขณะจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 2 รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยกให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และจำเลยที่ 2 มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย กรณีจึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ตามฟ้อง…”
พิพากษายืน

Share