คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แม้จะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่จดชื่อ เข้าในทะเบียนบ้านของผู้อพยพ ก็ไม่ทำให้ต้องสูญเสียสัญชาติไทย ตามที่โจทก์ทั้งหกและมารดาได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ แต่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนต่างด้าว เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกโต้แย้งแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษา
โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ
จำเลยให้การว่านางพรหม รินระทัย เป็นมารดาโจทก์ทั้งหกและมีสัญชาติไทย แต่ปรากฏหลักฐานว่า นายยือเป็นคนสัญชาติญวนเกิดนอกราชอาณาจักรไทยและเข้ามาอาศัยในราชอาณาจักรไทยโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2518และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515นั้นการได้สัญชาติและการถอนสัญชาติของคนต่างด้าวเป็นไปตามกฎหมายหาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยไม่ ในปี 2519 จำเลยที่ 1 ไม่เคยอ้างว่าโจทก์ที่ 5 เป็นคนสัญชาติญวน และในปี 2514 จำเลยที่ 2ไม่เคยอ้างว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติญวนและเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ การที่ปรากฏชื่อโจทก์ทั้งหกในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเพราะโจทก์ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองมีสัญชาติญวนจึงได้ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ไว้ปรากฏเป็นหลักฐานคือทะเบียนบ้านคนญวนอพยพและประวัติคนญวนอพยพทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพประจำตัวโจทก์แต่ละคนไว้เป็นหลักฐานด้วยการกระทำของโจทก์เอง เพราะโจทก์ไม่เคยมีสัญชาติไทยมาก่อนนางพรหม รินระทัย เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยือ บุ่ยซึ่งมีสัญชาติญวน โจทก์ทั้งหกอ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิในปี พ.ศ. 2519และ 2514 เป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยมานานจึงขาดอายุความแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญชาติของโจทก์ทั้งหกแต่อย่างใดโจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพเลขที่ 211ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าโจทก์ทั้งหกมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยอ้างเอาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติญวนและต่อมาได้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ และเพิ่มเติมในสูติบัตรว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติญวน ฟ้องเช่นนี้หมายความว่าจำเลยเป็นคนลงชื่อโจทก์ในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพและลงชื่อโจทก์ในสูติบัตรว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติญวนด้วยตนเอง แต่โจทก์กลับนำสืบว่า เมื่อโจทก์เกิดบิดามารดาของโจทก์ได้ไปแจ้งให้โจทก์ทั้งหกคนเข้าในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ ก็เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่หรือจำเลยไม่ได้ทำเอง แต่ทำไปตามที่บิดามารดาโจทก์แจ้งให้ทำ จำเลยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับสัญชาติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากโจทก์ทั้งหกเป็นคนมีสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้วแม้บิดามารดาของโจทก์จะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งชื่อโจทก์ทั้งหกคนเข้าในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งหกต้องสูญเสียสัญชาติไทยและกลายเป็นคนสัญชาติญวนไป ปัญหาทำนองนี้เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วดังคำพิพากษาฎีกาที่1487-1489/2500 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์นางสาวสุดา ดาลจาวัล หรือฟาติมาบีบี จำเลย ฯลฯ คำพิพากษาฎีกาที่570/2506 ระหว่าง นายแก้ว แซ่ลี้ โจทก์ นายร้อยตำรวจเอกระวีครองแก้ว ในฐานะโดยตำแหน่งนายทะเบียนต่างด้าวประจำอำเภอบางมูลนากจำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งหกและมารดาได้ขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านคนญวนอพยพแต่เจ้าหน้าที่ไม่จัดการให้โดยโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนต่างด้าวเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสามได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์ทั้งหกจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นข้ออื่น ๆ ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”.

Share