คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลเพียง 2 แห่ง ที่กลางหลังและที่ขาข้างซ้าย บาดแผลที่กลางหลังมีลักษณะถูกดินระเบิด บาดแผลกลมถลอกพอมีเลือดซึม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ส่วนที่ขาข้างซ้ายบวมแดง สันนิษฐานว่าถูกของแข็งไม่มีคม บาดแผลดังกล่าวรักษา 7 วันหาย ผู้เสียหายที่ 2 จึงได้รับ อันตรายแก่กายเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่จุดระเบิดอยู่ห่างจาก ผู้เสียหายที่ 2 เพียงประมาณไม่เกิน 2 เมตร แสดงว่า วัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกใช้นั้น ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ชีวิตได้ แม้จำเลยกับพวกจะเล็งเห็นผลของการกระทำว่า สะเก็ด ระเบิดอาจทำให้ผู้อื่นถึงตายได้ แต่การกระทำของจำเลยกับพวกเมื่อไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัย ซึ่งใช้ในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,81 และ 83 หาใช่มาตรา 288,80 และ 83 ไม่ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และศาลชั้นต้น ก็ยกเอาคำให้การดังกล่าวขึ้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีด้วย ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นการให้ความรู้ แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ถึงแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจ ลดโทษให้จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 288, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288, 364 ประกอบมาตรา 365 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 13 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า ลูกระเบิดดังกล่าวเป็นวัตถุระเบิดที่ผลิตขึ้นเอง มีส่วนผสมเป็นดินปืนไม่อาจทำให้ผู้ใดเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นั้น เห็นว่า แม้ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาจะระบุว่า พบสะเก็ด ระเบิดทำจากเศษเหล็กติดอยู่ที่ข้างรั้วบริเวณต้นฝรั่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็มิได้ยึดสะเก็ด ระเบิดดังกล่าวเป็นของกลาง และส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดตรวจพิสูจน์ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจทราบได้ว่า ลูกระเบิดที่จำเลยกับพวกขว้างมาที่หน้าบ้านของผู้เสียหายที่ 1 นั้น เป็นลูกระเบิดชนิดร้ายแรงเพียงใดหรือไม่จึงต้องอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนเป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัยปรากฏจากคำเบิกความของนายจรัญ จันทมัตตุการ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2มีบาดแผลเพียง 2 แห่ง ที่กลางหลังและที่ขาข้างซ้าย บาดแผลที่กลางหลังมีลักษณะถูกดินระเบิด บาดแผลกลมถลอกพอมีเลือดซึมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ส่วนที่ขาข้างซ้ายบวมแดงสันนิษฐานว่าถูกของแข็งไม่มีคม บาดแผลดังกล่าวรักษา 7 วันหาย ผู้เสียหายที่ 2 จึงได้รับอันตรายแก่กายเพียงเล็กน้อยทั้ง ๆ ที่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า จุดระเบิดอยู่ห่างจากผู้เสียหายที่ 2 เพียงประมาณ 2 เมตรหรือห่างเพียงประมาณ 2 ศอก ดังที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความก็ได้ แสดงว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกใช้นั้น ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายที่ 2ถึงแก่ชีวิตได้ แม้จำเลยกับพวกจะเล็งเห็นผลของการกระทำว่าสะเก็ด ระเบิดอาจทำให้ผู้อื่นถึงตายได้ แต่การกระทำของจำเลยกับพวกไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 และ 83 หาใช่มาตรา 288, 80 และ 83 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และศาลชั้นต้นก็ยกเอาคำให้การดังกล่าวขึ้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีด้วยถือได้ว่าคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ถึงแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจลดโทษให้จำเลยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 และ 83 ให้จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share