คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้อง ท.ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้ขับไล่ ท. กับพวกให้ออกไปจากบ้านพิพาทศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย ให้ ท.กับบริวารออกไปท. กับพวกไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ในบ้านพิพาทและให้ศาลแรงงานกลาง ออกหมายจับ ท.โจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยบรรยายฟ้องว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ที่จำเลยอ้างในคำฟ้องในคดีเดิมว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยและนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยึดทรัพย์ในบ้านและออกหมายจับ ท.นั้นทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ กล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ แม้คำพิพากษา ของศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของบ้านพิพาท ว่าเป็นของจำเลยซึ่งจำเลยใช้ยันบุคคลภายนอกได้ก็ตามแต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ยังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145(2) ทั้งการที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศกำหนดเวลาให้โจทก์ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของ ท. ลูกหนี้ตาม คำพิพากษายื่นคำร้องดังกล่าว มาตรา 296 จัตวา(3) ก็เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นบริวารของ ท. เท่านั้น ซึ่งมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์จึงยังสามารถ โต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโดยเป็น เจ้าของบ้านพิพาทหรือไม่การที่โจทก์ไม่ดำเนินการตาม มาตรา 296 จัตวา(3) จึงไม่ตัดสิทธิของโจทก์ ที่ จะ ฟ้องเป็นคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านไม่มีเลขที่ ตั้ง อยู่ บนที่ดินสาธารณะริมคลองขนมจีน เชิงสะพานโพธิ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 จำเลยได้ฟ้องขับไล่นายทิ้ง แสงศรีลูกจ้างของจำเลยและบริวารให้ออกไปจากบ้านดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีแรงงานหมายเลขดำที่ 4005/2529 ศาลพิพากษาขับไล่นายทิ้งและบริการกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากบ้านพิพาท เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 5693/2529วันที่ 23 กรกฎาคม 2530 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิในบ้านดังกล่าว ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทของจำเลย ให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ วันที่ 7 ธันวาคม 2530 จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ในบ้านพิพาท และต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งออกหมายจับนายทิ้งและบริวาร ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับนายทิ้งส่วนบริวารของนายทิ้งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ออกจากบ้านภายในวันที่ 25 มกราคม 2531 มิฉะนั้นจะออกหมายจับ การกระทำจำเลยทำให้โจทก์และบริวารได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยคืนให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าขนย้ายเป็นเงิน 100,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์จนครบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา 302 นอกจากนั้นกรณียังเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องดำเนินการตามมาตรา 296 จัตวา คดีของโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาจึงไม่รับคำฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จการ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นต้องรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ในชั้นบังคับคดีจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้ผู้อาศัยอยู่ในบ้านพิพาทแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา แต่โจทก์เพิกเฉยไม่พิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยอย่างไร คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ให้ขับไล่นายทิ้งกับพวกให้ออกไปจากบ้านพิพาท ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลย ให้นายทิ้งกับบริวารออกไปและใช้ค่าเสียหายนายทิ้งกับพวกไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ในบ้านพิพาทและให้ศาลแรงงานกลางออกหมายจับนายทิ้ง โจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้โดยบรรยายฟ้องว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์ ที่จำเลยอ้างในคำฟ้องในคดีเดิมว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ในบ้านและออกหมายจับ นายทิ้ง นั้น ทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ คำพิพากษาของศาลแม้จะวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ของบ้านพิพาทว่าเป็นของจำเลยซึ่งจำเลยใช้ยันบุคคลภายนอกได้ก็ตาม แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็ยังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ทั้งการที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศกำหนดเวลาให้โจทก์ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนายทิ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3) ก็เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นบริวารของนายทิ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โจทก์จึงยังสามารถโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโดยเป็นเจ้าของบ้านพิพาทหรือไม่ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการตาม มาตรา 296 จัตวา(3) ดังกล่าวจึงหาได้ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดี นี้ไม่ เมื่อประเด็นที่ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลย และปรากฏว่าบ้านพิพาท ตั้งอยู่ในเขตศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)(เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share