คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้นๆ ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แต่ถ้าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดไปตามนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 (3) (ก) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจถือเอาข้อเท็จจริงตาม คำพิพากษาคดีแพ่งมาผูกพันโจทก์ในคดีอาญาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยศาลชั้นต้นชอบที่จะวินิจฉัยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพื่อประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้นเท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดไปตามนั้นได้
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นฟังว่าเอกสารสัญญากู้ที่จำเลยใช้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินกู้จากโจทก์ในคดีแพ่งเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานแสดงหลักฐานเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 นั้น เป็น การยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ใน ปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง คือโจทก์กู้เงินจำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์และภรรยาลงชื่อในช่องผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้โดยไม่ได้กรอกข้อความและไม่มีผู้ใดลงชื่อในช่องพยาน ต่อมาจำเลยได้กรอกข้อความลงในแบบพิมพ์สัญญากู้ในช่องจำนวนเงินเป็น ๑๐,๐๐๐ บาทและลงชื่อพยานด้วย ๒ คน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนความจริง แล้วจำเลยนำสัญญากู้ดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ ศาลให้โจทก์ชำระเงินตามจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยได้เบิกความในคดีดังกล่าวอันเป็นเท็จว่าโจทก์ขอกู้เงินจำเลย ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้นางสาวจรัสศรี เป็นผู้กรอกข้อความ และนางสาวจรัสศรีลงชื่อเป็นพยานกับนางสาวปราณี ความจริงโจทก์กู้เงินจำเลยเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีพยานลงชื่อ และต่อมาโจทก์นำเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทไปใช้จำเลยแล้ว คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญทำให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยบังอาจเสนอสัญญากู้ดังกล่าวอันเป็นเท็จต่อศาลซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๔ และ ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์อุทธรณ์ในข้อกฎหมายแต่ศาลอุทธรณ์กลับไปวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิชอบ เห็นว่า กรณีที่มีการอุทธรณ์แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น ๆ ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๔ แต่ถ้าปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายศาลอุทธรณ์ก็ยังมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดไปตามนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓(๓)(ก) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕ กรณีคดีนี้เมื่อโจทก์อุทธรณ์อ้างว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจถือเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งมาเป็นผลให้ผูกพันโจทก์ในคดีอาญาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยศาลชั้นต้นชอบที่จะวินิจฉัยพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพื่อประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา จึงเท่ากับโจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงชอบที่จะอาศัยอำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าวฟังข้อเท็จจริงใหม่แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดไปตามนั้นได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า เอกสารสัญญากู้ที่จำเลยใช้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินกู้จากโจทก์ในคดีแพ่งไม่ใช่เป็นเอกสารปลอม คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกประการหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาว่าจำเลยแสดงหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีโดยอาศัยข้อกฎหมาย อุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ประทับฟ้องในข้อหานี้จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับไว้วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ในความผิดฐานแสดงหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งตามฟ้องโจทก์นั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเอกสารสัญญากู้ที่จำเลยใช้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินกู้จากโจทก์ในคดีแพ่งเป็นการเอกสารที่แท้จริง ไม่ใช่เอกสารปลอม แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดฐานนี้ด้วย ถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share