แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของช. เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของช. ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ผู้ร้องจึงเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)แม้ผู้ร้องจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าเมื่อพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของผู้ร้องอีกต่อไปต่อศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเมินแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีคดีของผู้ร้องจึงยังไม่ถึงที่สุดในการพิพากษาใหม่ศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องด้วยตามมาตรา142 โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินแต่ขอให้พิพากษาว่าที่ดินมีโฉนดเป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์มีส่วนได้1ส่วนใน5ส่วนการแบ่งที่ดินหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาทตามส่วนอันเป็นการขอให้แบ่งทรัพย์มรดกระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อโจทก์มีส่วนได้ในที่ดินมรดก1ส่วนใน5ส่วนและจำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้แบ่งตามคำขอของโจทก์แม้จะเป็นวิธีการแบ่งทรัพย์ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้แล้วก็ตามก็ไม่ชอบที่จะพิพากษายกคำขอส่วนนี้ของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ นางนวรัตน์ เชาว์สุโข นายสนิท คงเพ็ชรและนายสำราญ คงเพ็ชร เป็นบุตรของนายชุม คงเพ็ชร กับนางเจียว คงเพ็ชร ต่อมานางเจียวได้หย่าขาดจากกัน แล้วนายชุมได้สมรสกับจำเลย นายชุมเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6291เนื้อที่ 91 ตารางวา ราคา 80,000 บาท นายชุมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2535 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินของนายชุมจึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท บิดามารดาของนายชุมถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ทายาทของนายชุมมีเพียง 5 คน คือโจทก์จำเลยนางนวรัตน์ นายสนิท และนายสำราญ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกคนละ 1 ใน 5 ส่วน ส่วนของโจทก์คิดเป็นเงิน 16,000 บาทโจทก์ขอให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดินมรดกแล้ว จำเลยไม่ยินยอมโดยอ้างว่านายชุมได้ขายที่ดินไปแล้วซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6291 ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาสจังหวัดนราธิวาส เป็นมรดกของนายชุมและตกทอดแก่ทายาทของโจทก์จำเลย นางนวรัตน์ นายสนิท และนายสำราญ คนละเท่า ๆ กันเฉพาะส่วนของโจทก์คิดเป็นเงิน 16,000 บาท การแบ่งที่ดินมรดกหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้เอาที่ดินขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งระหว่างทายาทตามส่วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางนวรัตน์ เชาว์สุโขนายสนิท คงเพ็ชร และนายสำราญ คงเพ็ชร ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกของนายชุมคนละ1 ใน 5 ส่วน ขอให้กันส่วนมรดก ส่วนของผู้ร้องคนละ 1 ใน 5 ส่วนคิดเป็นเงินคนละ 16,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่า รอไว้สั่งเมื่อมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจบังคับให้จำเลยปฏิบัติได้ พิพากษายกฟ้อง สำหรับคำร้องขอกันส่วนมรดกของผู้ร้องทั้งสาม เมื่อพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาสั่งอีกต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า สภาพแห่งข้อหาและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เปิดช่องให้บังคับคดีได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยแบ่งที่ดินมรดกได้ แต่ที่โจทก์ขอให้พิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสามได้รับส่วนแบ่งในที่ดินมรดกคนละส่วนเท่า ๆ กันกับโจทก์และจำเลยนั้น ผู้ร้องทั้งสามมิใช่คู่ความจึงไม่อาจพิพากษาให้ได้ตามขอสำหรับที่โจทก์ขอให้พิพากษาว่าหากโจทก์และจำเลยไม่สามารถตกลงแบ่งที่ดินมรดกกันได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งระหว่างโจทก์ จำเลย และทายาท เห็นว่า คำขอของโจทก์เป็นวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างทายาทหรือเจ้าของรวมซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้ตามคำขอ พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6291ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นของโจทก์1 ส่วน ในจำนวนทายาท 5 คน คิดเป็นจำนวนเงินส่วนของโจทก์16,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นคู่ความหรือไม่ และโจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้หรือไม่
สำหรับปัญหาประการแรก เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 บัญญัติว่า บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด (1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1749 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดกผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องและคำร้องของผู้ร้องทั้งสามฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2535 ว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นทายาทของนายชุมเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิรับมรดกของนายชุมเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของนายชุม และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องทั้งสามย่อมมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) แม้ผู้ร้องทั้งสามจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาว่า เมื่อพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องของผู้ร้องทั้งสามอีกต่อไป ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีคดีของผู้ร้องทั้งสามจึงยังไม่ถึงที่สุด ในการพิพากษาใหม่ศาลชั้นต้นจึงต้องชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสามด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 แต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสาม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบด้วยมาตรา 247
ปัญหาประการหลัง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1745 บัญญัติว่า ถ้ามีทายาทหลายคนทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เป็นจำนวนเงินตามฟ้อง แต่โจทก์ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6291 เป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์มีส่วนได้ 1 ส่วนใน 5 ส่วน การแบ่งที่ดินหากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาทตามส่วนอันเป็นการขอให้แบ่งทรัพย์มรดกระหว่างเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์มีส่วนได้ในที่ดินมรดก 1 ส่วนใน 5 ส่วน และจำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้แบ่งตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าวิธีการแบ่งทรัพย์ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิพากษาให้ตามคำขอและพิพากษาคำขอส่วนนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ 1 ส่วนใน 5 ส่วนถ้าแบ่งไม่ได้ให้เอาที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์1 ส่วนใน 5 ส่วน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องสอดของผู้ร้องทั้งสาม แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น