แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์จี๊ปซึ่งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ คือห้ามล้อมือใช้การไม่ได้ ห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง 25เปอร์เซ็นต์ ด้วยความเร็วสูงประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเหตุให้ชนผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้าจำเลยตรงสี่แยก จนถึงแก่ความตายนั้น แม้จะฟังว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดี แต่ถ้าหากจำเลยใช้รถที่มีห้ามล้อดี ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด รถก็จะไม่ชนกันแล้ว จำเลยก็ต้องมีผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 24 มกราคม 2506 เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์จี๊ป ซึ่งมีห้ามล้อเท้าใช้ไม่ได้ไปตามถนนพระราม 5 ด้วยความประมาทฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับจำเลยเป็นนายสุจิโรจน์ อินทรกำแหงขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีนายประสูตร ศราดนี นั่งซ้อนท้ายมาตามถนนศรีอยุธยาจะผ่านทางร่วมสี่แยกถนนศรีอยุธยา โดยเหตุที่จำเลยขับผ่านทางแยกด้วยความเร็วสูงเกินกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงรถจำเลยจึงชนรถจักรยานยนต์ที่นายสุจิโรจน์ขับกระเด็นคว่ำเป็นเหตุให้นายประสูตรบาดเจ็บสาหัส ถึงแก่ความตายในคืนนั้นส่วนนายสุจิโรจน์บาดเจ็บถึงสลบ และตายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จำเลยขับรถชนแล้วมิได้หยุดช่วยเหลือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทิ้งรถหนีไป เหตุเกิดตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต จังหวัดพระนครขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า รถจำเลยกับรถนายสุจิโรจน์ชนกันที่ตรงสี่แยกถนนพระราม 5 กับถนนศรีอยุธยาตัดกัน รถจำเลยอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์คือ ห้ามล้อมือใช้การไม่ได้ ห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ขัดต่อกฎของกรมตำรวจซึ่งวางไว้ว่า เหยียบห้ามล้อครั้งแรกต้องได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ และจำเลยขับรถผ่านสี่แยกเร็วเกินกว่า20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อชนแล้วไม่อยู่ช่วยเหลือ กลับหนีไป จำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติจราจรส่วนความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท วินิจฉัยว่า รถจักรยานยนต์ของผู้ตายไม่ได้หยุดที่ป้ายหยุดดูไป ตรงสี่แยกถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 5 เป็นทางเอกไม่มีป้ายจราจรบังคับให้หยุดดูไปจำเลยคงมีหน้าที่ชะลอความเร็วของรถลง หาจำต้องหยุดเช่นเดียวกับทางที่นายสุจิโรจน์ผู้ตายขับมานั้นไม่ ผู้ตายขับรถฝ่าฝืนตัดหน้ารถจำเลย เป็นเหตุให้ชนกัน ฟังว่าเป็นความผิดของผู้ตายเองแม้จะได้ความว่าจำเลยขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในการตายซึ่งเนื่องจากการประมาทของผู้ตายเอง พิพากษาว่าจำเลยผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2477 มาตรา 28, 30, 66, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 ปรับ 100 บาท
อัยการโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะฟังว่าผู้ตายขับรถฝ่าฝืนตัดหน้ารถจำเลยดังที่จำเลยนำสืบ อันจะพึงถือว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดี จำเลยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถอยู่นั่นเอง หาเป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิดไปได้ไม่เพราะถ้าหากจำเลยใช้รถที่มีห้ามล้อดีและขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว รถก็จะไม่เกิดชนกันขึ้น พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ด้วย ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เรื่องนี้ตามสำนวนผู้ตายมีส่วนเป็นผู้ประมาทอยู่ด้วย สมควรกรุณาจำเลย ให้จำคุกจำเลย 3 ปี
จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า คืนเกิดเหตุจำเลยขับรถจี๊ปมาตามถนนพระราม 5 มุ่งตรงไปทางโรงเรียนพาณิชยการพระนคร นายสุจิโรจน์ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนนศรีอยุธยาโฉมหน้าไปทางพระบรมรูปทรงม้า แล้วรถทั้ง 2 ฝ่ายเกิดชนกันที่สี่แยกศรีอยุธยาระหว่างถนนพระราม 5 กับถนนศรีอยุธยาตัดกัน และได้ความจากร้อยตำรวจเอกเปล่งผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้ตรวจพิสูจน์รถจำเลยประกอบกับรอยห้ามล้อในแผนที่เกิดเหตุที่จำเลยลงชื่อรับรองว่าถูกต้องแล้วว่า จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมงห้ามล้อมือใช้การไม่ได้ ส่วนห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ขัดต่อกฎของกรมตำรวจซึ่งวางไว้ว่าเหยียบห้ามล้อครั้งแรกต้องได้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อชนกันแล้วจำเลยก็ไม่อยู่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กลับหนีไปเสีย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงของคดีฟังได้ชัดว่า รถจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และเมื่อถึงสี่แยกก็ยังขับด้วยความเร็วสูงประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายให้ขับได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังดังที่โจทก์กล่าวหา ถึงหากจะฟังว่านายสุจิโรจน์ผู้ตายขับรถฝ่าฝืนตัดหน้าจำเลยอันพึงถือว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดี ก็หาทำให้จำเลยพ้นผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทไปได้ไม่ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน