คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2295/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่นายจ้างต้องชำระให้แก่กองทุนเงินทดแทน หาใช่เงินปีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นส่วนราชการของโจทก์ มีหน้าที่เกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนเพื่อเป็นทุนให้มีการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างในกรณีนายจ้างต้องจ่าย กองทุนเงินทดแทนประกอบด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบกับเงินอื่น ๆ หากนายจ้างไม่จ่ายภายในกำหนด นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ๕ ต่อเดือนของเงินสมทบค้างจ่าย เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ ได้ลงทะเบียนเพื่อจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนต่องานกองทุนเงินทดแทนสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ค้างจ่ายเงินสมทบกับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจำนวน ๒๐๒,๔๖๓.๔๔ บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละห้าต่อเดือนจากยอดเงินสมทบค้างจ่ายนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามีร่วมกันชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มจำนวน ๒๐๗,๔๖๓.๔๔ บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่มอัตราร้อยละห้าต่อเดือนของเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจำนวน ๖๗,๙๑๑.๐๕ บาท นับแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำว่า เงินปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ หมายความถึงเงินอันจะพึงต้องจ่ายเป็นงวด ๆ มีจำนวนที่แน่นอน และมีกำหนดระยะเวลาจ่ายที่แน่นอนด้วย ทำนองเดียวกับเงินเดือนเงินเบี้ยบำนาญ ค่าเช่า ดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในมาตราเดียวกันนั้น แต่เงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินเพิ่มเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีการเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างและอัตราค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ทั้งหากนายจ้างไม่สามารถแจ้งรายการค่าจ้างหรือสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเห็นว่ารายการค่าจ้างที่นายจ้างแจ้งไว้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องแจ้ง หรือนายจ้างปฏิเสธที่จะให้ข้อเท็จจริงในการคำนวณเงินสมทบ สำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็มีสิทธิที่จะประเมินเงินสมทบที่นายจ้างผู้นั้นจะต้องจ่ายโดยพิจารณาจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องและหากไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ให้ประเมินเงินสมทบตามที่เห็นสมควร ดังนี้ เงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่นายจ้างต้องชำระให้แก่กองทุนเงินทดแทนจึงเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอนแม้จะได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเป็นรายปีก็หาใช่เงินปีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖ ไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๔ คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินสมทบและเงินเพิ่มกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share