คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หรือใช้ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีถึงที่สุด โจทก์มาฟ้องจำเลยเรียกเงินบำเหน็จเป็นคดีนี้ ซึ่งสิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จนี้มีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลย โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยได้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนอยู่แล้ว แต่โจทก์มิได้ฟ้องรวมไปในคดีก่อนกลับมาฟ้องใหม่ในคดีนี้อีกโดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยอ้างว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า โจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายเงินตามฟ้อง ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1322/2526 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพกาษายืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 31 เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนและประโยชน์อื่นให้แก่โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมถ้าไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้เรียกเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกันกับคดีก่อน คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อนหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิฟ้องเรียกเงินบำเหน็จตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มีมูลมาจากการเลิกจ้างของจำเลย ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยได้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนอยู่แล้ว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องรวมไปในคดีก่อน กลับมาฟ้องใหม่ในคดีนี้อีกโดยอาศัยเหตุการเลิกจ้างคราวเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พิพากษายืน

Share