แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อรถยนต์โดยสุจริตจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มายึดรถยนต์นั้นจากโจทก์ไปเป็นของกลางในคดีอาญา และศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถยนต์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332โจทก์มีสิทธิ์ไม่จำต้องคืนรถยนต์ที่ซื้อขายให้แก่เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาแต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ในการซื้อรถยนต์ก็เพื่อจะได้รถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ หาใช่เพื่อรับชดใช้ราคาคืนไม่ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475ก็มิได้ บัญญัติว่า ผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตตามมาตรา 1332 ไม่ อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิดังนั้น เมื่อเจ้าของที่แท้จริงมารบกวนขัดสิทธิโจทก์ผู้ซื้อและโจทก์จำต้องคืนรถยนต์ให้ไปตามคำพิพากษาของศาลไม่ว่าโจทก์จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาหรือไม่ก็ต้องถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิซึ่งจำเลยผู้ขายต้องรับผิดในผลนั้น
การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว รถยนต์ที่ซื้อขายจึงหลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คืนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 479 และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามมาตรา 475
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากจำเลยซึ่งประกอบกิจการขายรถยนต์เก่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถไปจากโจทก์อ้างว่าเป็นของกลางในคดีอาญาระหว่างอัยการโจทก์ นายเสรี ลิ้มสกุลจำเลย ศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถให้นายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง ผู้เสียหายไปจำเลยต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยใช้ราคารถยนต์และค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถ
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิเหนือรถพิพาทยิ่งกว่าบุคคลอื่นจำเลยมิได้กระทำการรอนสิทธิหรือรบกวนขัดสิทธิโจทก์
ชั้นชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าจำเลยประกอบการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วโดยเฉพาะโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยในราคา ๔๖,๐๐๐ บาทและรับรถไปแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้ยึดรถไปจากโจทก์อ้างว่าเป็นของกลางในคดีอาญาระหว่างอัยการ โจทก์ นายเสรี ลิ้มสกุล จำเลยโจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญาขอให้สั่งคืนของกลางให้โจทก์ศาลอาญามีคำสั่งให้โจทก์ไปฟ้องทางแพ่ง แล้วศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้เสียหาย โจทก์เสียหายเพราะไม่ได้ใช้รถ ๕,๐๐๐ บาท
โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ มีสิทธิเหนือรถยนต์ยิ่งกว่าคนอื่น ๆ แม้เจ้าของแท้จริงก็จะมาเรียกรถยนต์ไปจากโจทก์มิได้เว้นแต่จะชดใช้ราคา กรณีจึงมิใช่เรื่องที่มีบุคคลอื่นอ้างสิทธิเหนือรถยนต์พิพาทดีกว่าโจทก์ จึงไม่เป็นรอนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๐๑/๒๕๐๐พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ บัญญัติว่า “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุขเพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น” การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามมายึดเอารถยนต์คันนี้ไปจากโจทก์นั้น ก็พึงเข้าใจได้อย่างแน่นอนว่าเนื่องมาจากนายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง เจ้าของรถยนต์คันนี้แจ้งความขอให้ดำเนินคดีกับนายเสรี ลิ้มสกุลผู้นำรถยนต์คันนี้มาขายให้จำเลยในข้อหาว่ายักยอกรถยนต์ และปลอมหลักฐานเกี่ยวกับการโอนรถยนต์คันนี้อันเป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่านายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง มาก่อการรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ผู้ซื้อในอันจะใช้รถยนต์คันนี้โดยปกติสุข เพราะนายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง มีสิทธิเหนือรถยนต์คันนี้อยู่ในเวลาที่ซื้อขายกันถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ซื้อรถยนต์โดยสุจริตจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ ซึ่งมีสิทธิไม่จำต้องคืนรถยนต์ที่ซื้อขายให้แก่เจ้าของที่แท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา แต่วัตถุประสงค์ของโจทก์ในการซื้อรถยนต์ก็เพื่อจะได้รถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ หาใช่เพื่อรับชดใช้ราคาคืนไม่ ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ ก็มิได้บัญญัติว่าผู้ซื้อทรัพย์โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๒ ไม่อยู่ในฐานะที่จะถูกรอนสิทธิ ดังนั้นเมื่อนายอู่ซั้ง แซ่ตั้ง เจ้าของที่แท้จริงมารบกวนขัดสิทธิโจทก์ผู้ซื้อ และโจทก์จำต้องคืนรถยนต์ให้ไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลไม่ว่าโจทก์จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาหรือมีสิทธิได้รับชดใช้ราคาหรือไม่กรณีก็ต้องถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ ซึ่งจำเลยผู้ขายมีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการรอนสิทธินั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕
เมื่อฟังว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิแล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ตามที่เสียหายไปจริง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการรอนสิทธิมา ๒ ประการ คือ ราคารถยนต์ที่โจทก์ชำระให้จำเลยไป ๔๖,๐๐๐ บาทกับค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์คันนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายรับกันว่า เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ปัญหามีว่า โจทก์จะเรียกร้องราคารถยนต์จากจำเลยได้หรือไม่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้คืนแก่นายอู๋ซั้ง แซ่ตั้ง ไปแล้ว ย่อมเห็นได้ว่ารถยนต์คันนี้ได้หลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายจึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คันนี้คืนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๙ ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี ฯลฯ ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด” ส่วนค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถนั้น จำเลยย่อมต้องรับผิดอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๕ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างมา รูปคดีและประเด็นไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ราคารถยนต์ ๔๖,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท รวม ๕๑,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์