คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามบันทึกการหย่าในเรื่องทรัพย์สินระบุว่า บ้านที่เกิดเหตุพร้อมที่ดินที่มีชื่อร่วมกันจำเลยยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายเพียงผู้เดียว จำเลยจึงย่อมรู้แก่ใจดีว่าบ้านเกิดเหตุพร้อมที่ดินเป็นของผู้เสียหายไปแล้ว จำเลยหามีสิทธิกระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านดังกล่าวไม่ การที่จำเลยตะโกนเรียกให้ผู้เสียหายเปิดประตูรับจำเลยในยามวิกาลทั้งที่ความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยหมดสิ้นไปแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ยอมเปิดประตูจำเลยจึงขึ้นไปชั้นบนของบ้านแล้วใช้ขวานทุบและฟันลูกบิดประตูห้องนอนของผู้เสียหายจนชำรุดใช้การไม่ได้ และยังใช้มีดฟันวงกบและงัดบานประตูไม้ชั้นล่างและกลอนประตูจนหลุด จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทำลายวงกบบานประตู กลอนและลูกบิดประตูเพื่อให้จำเลยผ่านเข้าไปในบ้านและห้องนอนของผู้เสียหายได้ ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกระทำโดยรู้สำนึกและประสงค์ต่อผลตามเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยมีขวานและมีดอีโต้เป็นอาวุธบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางพรทิพย์ จงกลฐากร ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วตะโกนข่มขู่อันเป็นการรบกวนการครอบครองเคหสถานของผู้เสียหายโดยปกติสุข และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแล้วจำเลยใช้ขวานและมีดอีโต้ดังกล่าวฟัน ทุบ งัด ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งบานประตูไม้สัก วงกบพร้อมกลอนของผู้เสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวม 3,500 บาท หลังจากนั้นจำเลยโดยมีขวานและมีดอีโต้เป็นอาวุธติดตัวเข้าไปในห้องนอนอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรแล้วลักเอาเงินสดจำนวน 300 บาทของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 358, 365, 90, 91 ริบขวานของกลางให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 300 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2418/2542 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 335(1)(7)(8) วรรคสอง), 358 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธจำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก1 ปี 4 เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2418/2542ของศาลชั้นต้น ริบขวานของกลาง กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางพรทิพย์จงกลฐากร ผู้เสียหายเคยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อนและมีบุตรด้วยกัน 2 คน ผู้เสียหายและบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 11มีนาคม 2540 ผู้เสียหายจดทะเบียนหย่ากับจำเลยและทำบันทึกการหย่าในเรื่องทรัพย์สินโดยจำเลยยอมยกที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ผู้เดียวแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยมีเจตนาทำให้วงกบ บานประตูไม้สักและลูกบิดพร้อมกลอนประตูบ้านที่เกิดเหตุเสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกการหย่าเอกสารหมาย จ.3ในเรื่องทรัพย์สินระบุไว้ชัดเจนว่า บ้านที่เกิดเหตุพร้อมที่ดินซึ่งมีชื่อร่วมกัน จำเลยยินยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้จำเลยย่อมรู้แก่ใจดีว่า บ้านที่เกิดเหตุพร้อมที่ดิน จำเลยได้ยกให้แก่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว จำเลยหามีสิทธิกระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านที่เกิดเหตุไม่ ดังนั้น การที่จำเลยตะโกนเรียกให้ผู้เสียหายเปิดประตูบ้านรับจำเลยในเวลาวิกาลทั้งที่ความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างจำเลยและผู้เสียหายหมดสิ้นไปแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ยอมเปิดประตูบ้านรับจำเลย จำเลยจึงขึ้นไปชั้นบนของบ้านที่เกิดเหตุใช้ขวานทุบและฟันลูกบิดประตูห้องนอนของผู้เสียหายด้านที่ติดกับระเบียงจนชำรุดใช้การไม่ได้ตามภาพถ่ายหมาย จ.10และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 แล้วจำเลยได้ใช้มีดฟันวงกบและงัดบานประตูไม้สักชั้นล่างและกลอนประตูจนหลุดออกตามภาพถ่ายหมาย จ.8 จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทำลายวงกบบานประตู กลอนและลูกบิดประตูเพื่อให้จำเลยผ่านเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุและห้องนอนของผู้เสียหายได้ ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกระทำโดยรู้สำนึกและประสงค์ต่อผลตามเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเคยงัดบานประตูบานเดิมนี้มาก่อนนั้นก็ไม่อาจรับฟังหักล้างเจตนาของจำเลยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวได้

สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์นั้น โจทก์มีนางพรทิพย์ผู้เสียหายเบิกความว่าขณะนอนอยู่ที่ห้องนอนชั้นบนได้ยินเสียงจำเลยตะโกนเรียกให้เปิดประตู จากนั้นได้ยินเสียงจำเลยทุบลูกบิดประตูห้องนอน แต่จำเลยเข้าห้องนอนของพยานไม่ได้ เพราะติดกลอนภายใน จำเลยจึงเดินลงไปชั้นล่างทุบและงัดประตูหลังบ้านจนหลุดออก พยานเห็นจำเลยเดินเข้ามาในบ้านจึงวิ่งหนีไปที่บ้านเพื่อนบ้าน หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงพยานกลับเข้าบ้านก็พบว่าห้องนอนถูกรื้อค้นและเงินจำนวน 300 บาท ที่อยู่ในกระเป๋าใส่เงินวางไว้ที่หัวเตียงได้หายไป รุ่งเช้าพยานจึงไปแจ้งความ ซึ่งคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของเด็กหญิงวลัยภรณ์ ศรีกันทา บุตรของจำเลยและผู้เสียหายซึ่งได้ยินเสียงจำเลยเดินขึ้นไปชั้นบนของบ้านและตะโกนเรียกผู้เสียหาย จากนั้นเห็นจำเลยเดินถือมีดเข้ามาในห้องนอน ถามหาผู้เสียหายแล้วจำเลยเดินขึ้นไปที่ห้องนอนของผู้เสียหาย เด็กหญิงวลัยภรณ์ได้ยินเสียงรื้อค้นของในห้องนอนประมาณ 10 นาที จำเลยก็ลงมาชั้นล่างแล้วออกจากบ้านไป นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกสุธี จำปาพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนว่า ตอนเช้าของวันเกิดเหตุผู้เสียหายมาแจ้งความกล่าวหาจำเลยด้วยว่าลักเงินสดจำนวน 300 บาท ที่เก็บไว้บริเวณหัวเตียงไป พยานจึงทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.7 บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.14 บัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.12 และถ่ายรูปเตียงนอนของผู้เสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.9 การที่จำเลยกลับขึ้นไปที่ห้องนอนของผู้เสียหายอีกครั้งหนึ่งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผู้เสียหายไม่อยู่ในห้องนั้นแล้ว และรื้อค้นในลักษณะหาทรัพย์สิน ตามคำเบิกความของเด็กหญิงวลัยภรณ์บุตรของจำเลยซึ่งไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เมื่อผู้เสียหายกลับมาก็พบว่าห้องนอนถูกรื้อค้นตรงตามคำเบิกความของเด็กหญิงวลัยภรณ์และเงินสดจำนวน 300 บาท ได้หายไปจึงไปแจ้งความในเช้าของวันเกิดเหตุทันทีว่าจำเลยลักเงินสดจำนวนดังกล่าวไปพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลเชื่อมโยงกันเช่นนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ลักเอาเงินสดจำนวน 300 บาท ไปจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share