แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเข้าไปขุดดิน เกรดิน ขุดบ่อ และปั้นอิฐขายในที่ดินซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมโดยที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และร่วมกันทำที่ดินของโจทก์ร่วมเสียหายกับเอาที่ดินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันบุกรุก เข้าไปในที่ดิน 2 แปลง ตาม น.ส.3 เลขที่ 53และเลขที่ 56 ของนางประนอม บัวเล็ก ผู้เสียหาย ยึดถือครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ทั้งสองแปลงโดยเข้าไปขุดดินเป็นบ่อหลายแห่งและไถขุดผิวหน้าดิน ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงเสียหายถูกทำลายและเสื่อมค่า ทั้งเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันลักทรัพย์เอาดินที่ร่วมกันไถขุดไว้ดังกล่าวในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งานคิดเป็นราคา 20,000 บาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 365, 358, 335, 91 ริบของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 358, 335 ประกอบมาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ให้ริบของกลางและให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหายจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2520 นางประยูร บัวเล็ก มารดาโจทก์ร่วมได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 4 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 53, 54, 56 และ 57 ตำบลเกรียงไกรอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ กับจำเลยที่ 1 ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์และปลูกที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จะซื้อจะขายดังกล่าวได้ ต่อมานางประยูรฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 54 และ 57 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ปรากฎตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.6 ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อปี 2528 นางประยูรถูกคนร้ายปล้นทรัพย์และถูกคนร้ายฆ่าตาย จำเลยทั้งสองในคดีนี้ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาปล้นทรัพย์และฆ่านางประยูรคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวตั้งแต่ถูกจับจนศาลฎีกาพิพากษา เมื่อจำเลยทั้งสองพ้นจากการถูกควบคุมตัวแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532 จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ได้เข้าไปขุดดิน เกรดดิน ขุดบ่อ และปั้นอิฐขายในที่ดินที่เกิดเหตุคือที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 53 และ 56 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสองขุดเอาไปทำประโยชน์คิดเป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนปรากฏตามรายงานประจำวันเอกสารหมาย ล.1หลังจากนางประยูรตายแล้ว โจทก์ร่วมได้รับมรดกที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวจากนางประยูร ปัญหาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ที่นางประยูรทำไว้กับจำเลยที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าที่ดินภายใน1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว นางประยูรและจำเลยที่ 1 ได้ต่อสัญญากันใหม่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2521 โดยทำเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินขึ้นอีกฉบับหนึ่งตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4ซึ่งหนังสือสัญญาฉบับหลังนี้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าที่ดินภายใน1 ปีเช่นเดียวกันแต่ครั้นเมื่อครบ 1 ปี ตามสัญญาฉบับหลังแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินมาชำระ นางประยูรและจำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวต่อกัน ปรากฏตามหนังสือเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.5 หลังจากเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้มาเช่าที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 54 และ 57 กับนางประยูร แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 ก็ถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินที่เช่าดังกล่าวเพราะจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่า ในการนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมนั้น นอกจากโจทก์ร่วมจะเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวมาแล้ว ยังมีนายอนันต์ สอนกองแดงกำนันท้องที่เกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานประกอบอีกว่า พยานเป็นผู้เขียนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และหนังสือเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.5เห็นว่า นายอนันต์เป็นพนักงานฝ่ายปกครองไม่ได้เป็นญาติหรือมีส่วนได้เสียกับนางประยูรหรือโจทก์ร่วม นับว่าเป็นพยานคนกลางที่น่าเชื่อถือ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า นายอนันต์ถูกจำเลยที่ 1ฟ้องกล่าวหาว่าปลอมเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 และสัญญาเช่าที่ดินแต่ก็ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว และศาลฎีกาได้ตรวจดูลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในเอกสารหมายจ.3, จ.4 และ จ.5 แล้ว เห็นว่า คล้ายคลึงกันมากน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ส่วนคดีแพ่งที่นางประยูรฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวมานั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การยอมรับว่าได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนางประยูรจริง เห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1มีสิทธิที่จะทำประโยชน์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3โดยยังไม่มีการยกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาเช่ากับนางประยูรอีกข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ที่ดินน.ส.3 เลขที่ 53 และ 56 ซึ่งเป็นที่ดินที่เกิดเหตุนี้นางประยูรและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้วตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุได้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความตามคำของนายจำลอง เอี่ยมทับผู้ใหญ่บ้านและนายอนันต์ กำนันท้องที่เกิดเหตุว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเลยดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปขุดดิน เกรดดิน ขุดบ่อ และปั้นอิฐขายในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมโดยที่จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข และร่วมกันทำที่ดินของโจทก์ร่วมเสียหาย กับเอาที่ดินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น