คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าทำงานในองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงิน ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน จำเลยจะทำงานอะไรแล้วแต่หัวหน้าหน่วยจะสั่งให้ทำในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เมื่อจำเลยปฏิบัติงานมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนหรือกว่านั้น ถ้าองค์การพิจารณาเห็นสมควร จึงจะรับบรรจุเป็นเงินเดือน ดังนี้ เมื่อจำเลยอยู่ในระหว่างทดลองให้ปฏิบัติงานชั่วคราวโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
มาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปพ.ศ.2498. ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการของ อสร. ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง ทั้งต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินกิจการของ อสร. ซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้อำนวยการย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ดำเนินคดี มีอำนาจแจ้งความหรือร้องทุกข์ หรือสั่งให้บุคคลอื่นไปแจ้งความหรือร้องทุกข์แทน ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลย ที่เบียดบังยักยอกเอาเงินของอสร. ไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป(อสร.) ตำแหน่งเสมียนสารบรรณ หน่วยการเงิน ได้รับค่าจ้างรายวันวันละ 29 บาท มีหน้าที่เก็บเงินค่าซื้อสินค้าจากลูกค้าและนำส่งเจ้าหน้าที่แผนกคลังขององค์การเป็นประจำวัน จำเลยได้รับเงินและเก็บเงินจากลูกค้าขององค์การไว้ต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง แล้วเบียดบังยักยอกเป็นประโยชน์ของตน โดยทุจริตไปเป็นจำนวนเงิน160,086 บาท 50 สตางค์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

จำเลยให้การรับว่าเบียดบังเอาเงินขององค์การฯ ไปจริงแต่ผู้อำนวยการ อสร. ไม่มีอำนาจแจ้งความหรือร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหากลงโทษก็ขอให้รอ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นพนักงานกระทำผิดจริง ผู้อำนวยการ อสร. มีอำนาจร้องทุกข์หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ให้ลงโทษตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 8 ปี ปรานีลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยยังมิได้รับการบรรจุให้กินเงินเดือนขององค์การ และการได้รับเงินค่าจ้างรายวันก็มิใช่เป็นการรับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น จำเลยจึงไม่เป็นพนักงานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามมาตรา 4 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติที่กล่าวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องขังมาพอแก่โทษแล้วปล่อยตัวไป

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาว่าขณะกระทำผิด จำเลยเป็นพนักงานตามความหมายในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 แล้ว ลงโทษจำเลยตามฟ้องดังฎีกาของโจทก์ได้หรือไม่

โดยคำจำกัดความของคำว่า พนักงาน ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502ประกอบคำเบิกความของผู้อำนวยการ อสร. พยานโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การที่จะเป็นพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้จะต้องเป็นบุคคลที่องค์การได้บรรจุแต่งตั้งให้เป็นพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติงานในองค์การ ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้อำนวยการตามมาตรา 21 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 และสำหรับตำแหน่งเสมียนต้องบรรจุเป็นเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือน แต่จำเลยทำงานในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงินได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน จำเลยจะทำงานอะไรแล้วแต่หัวหน้าหน่วยจะสั่งให้ทำในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เมื่อองค์การพิจารณาเห็นสมควรจะรับอย่างน้อยให้ปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่า 3 เดือนหรือกว่านั้น จึงจะรับบรรจุเป็นเงินเดือน เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยอยู่ในระหว่างทดลองให้ปฏิบัติงานชั่วคราวโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเท่านั้น เมื่อจำเลยปฏิบัติงานมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน หรือกว่านั้นถ้าองค์การพิจารณาเห็นสมควรจะรับ จึงจะรับบรรจุเป็นเงินเดือน ถ้าจำเลยทำงานไม่ดี ก็ไม่ได้รับบรรจุ หรือองค์การอาจให้ออกไปก็ได้ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยอยู่ในระหว่างทดลองให้ปฏิบัติงานชั่วคราว โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ที่โจทก์ฟ้องฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้อำนวยการ อสร. ไม่มีอำนาจแจ้งความหรือร้องทุกข์พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว อสร. เป็นนิติบุคคล เงินที่จำเลยเบียดบังเอาไปเป็นของ อสร. ตามมาตรา 20 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการของ อสร. ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่คณะกรรมการได้วางไว้ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง ทั้งผู้อำนวยการต้องรับผิดต่อคณะกรรมการในการจัดการและดำเนินกิจการของ อสร. ศาลฎีกาเห็นว่าผู้อำนวยการย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ดำเนินคดีกับจำเลยผู้กระทำผิดเรื่องนี้ได้ ผู้อำนวยการจึงมีอำนาจแจ้งความหรือร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือสั่งให้บุคคลอื่นไปแจ้งความหรือร้องทุกข์แทนขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยได้ การดำเนินคดีอาญาเรื่องนี้กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์และจำเลย

Share