แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งเจ็ดได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการตรวจรับน้ำมันให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีระเบียบในการนี้ว่ากรรมการตรวจรับน้ำมันทุกคนจะต้องร่วมกันตรวจรับ โดยตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์บรรทุกน้ำมันว่าตรงกับที่ตรวจสอบไว้แล้วหรือไม่ ตรวจวาล์วและตราที่ปิดผนึกไว้มีรอยชำรุดหรือไม่ เปิดฝาถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมันตรวจดูว่ามีน้ำมันท่วมแป้นหรือไม่ ตรวจในถังน้ำมันว่ามีน้ำปลอมปนหรือไม่ เมื่อตรวจถูกต้องแล้วให้เปิดท่อน้ำมันจากรถยนต์บรรทุกน้ำมันต่อเข้าท่อสูบน้ำมันขึ้นไปสู่ถังเก็บน้ำมันใหญ่และดำเนินการให้น้ำมันในรถยนต์บรรทุกน้ำมันถ่ายลงจากรถทั้งหมด แล้วจึงจะมีการเข็นรับน้ำมันในใบรับของและใบส่งของ ระเบียบดังกล่าวมีไว้เพื่อตรวจสอบมิให้มีการส่งน้ำมันมาไม่ครบถ้วนและป้องกันไม่ให้มีการถ่ายน้ำมันออกจากรถยนต์บรรทุกน้ำมันไม่หมดแล้วถูกเบียดบังไปจำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันตรวจรับและควบคุมการทำงานทุกขั้นตอนหากแบ่งหน้าที่กันทำแล้วจะไม่สามารถควบคุมได้ การที่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ร่วมกันตรวจสอบน้ำมันตามระเบียบของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งเป็นผลทำให้มีการส่งน้ำมันให้โจทก์ไม่ครบถ้วน แม้จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้ร่วมกันทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยไม่ต้องนำสืบว่าการบกพร่องต่อหน้าที่ของจำเลยแต่ละคนหรือแต่ละคราวดังกล่าวนั้น เป็นเหตุให้โจทก์สูญเสียน้ำมันไปจำนวนเท่าใด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับน้ำมันได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเรื่องการตรวจรับน้ำมันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยน้ำมันของโจทก์สูยหายไปเป็นมูลค่า 1,082,243.29 บาท ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ให้การว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบในการตรวจรับน้ำมันแล้ว ไม่ได้ทุจริตเบียดบังน้ำมัน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ได้แต่งตั้งนายสินธุ์ชัยเนื่องจำนงค์ นายวิจิตร สิงหรัตน์ และนายพงศ์ศักดิ์ สุทธิวรรณซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ให้เป็นกรรมการตรวจรับน้ำมันดีเชล 57จำนวน 24 ล้านลิตรจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บุคคลทั้งสามดังกล่าวได้แต่งตั้งให้จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เช่นเดียวกันเป็นกรรมการร่วมกันตรวจรับน้ำมันแทน จำเลยทั้งเจ็ดได้ทำหน้าที่ตรวจรับน้ำมันตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันที่5 สิงหาคม 2523 ถึงวันที่ 2 กันยายน 2523 โดยมีรถบรรทุกน้ำมันมาส่งน้ำมัน 785 เที่ยว เที่ยวละ 12,000 ลิตร เมื่อสูบถ่ายน้ำมันลงถังใหญ่ซึ่บรรจุได้ 10.6 ล้านลิตรแล้ว ปรากฏว่าน้ำมันขาดหายไป 263,603 ลิตร จึงฟังได้ว่าน้ำมันจำนวน 263,603 ลิตร ได้ขาดหายไปในขณะที่จำเลยทั้งเจ็ดได้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจรับน้ำมันดังกล่าวคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตรวจกับน้ำมันของจำเลยทั้งเจ็ด ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยรับน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้ผ่านการตรวจปริมาตร ลายเซ็นในช่องผู้ส่งน้ำมันกับใบรับรองไม่ใช่คนเดียวกัน ลงชื่อเซ็นรับน้ำมันโดยไม่ได้ลงวันเดือนปี กรอกรายการลงในสมุดจดทะเบียนรถยนต์ตามเอกสารหมาย จ.49ผิดพลาด จำเลยทั้งเจ็ดแบ่งหน้าที่กันตรวจรับน้ำมัน ไม่ร่วมกันตรวจรับน้ำมันตามคำแนะนำของโจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการกรอกรายการลงในเอกสารหมาย จ.49 ผิดพลาดนั้น การกรอกต้องนำเอาแผ่นปลิวจากคณะกรรมการตรวจรับน้ำมันแต่ละคนซึ่งจดไว้นั้นมากรอกลงในเอกสารหมาย จ.49 ซึ่งอาจจะกรอกโดยผิดพลาดก็เป็นได้ส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดปฏิบัติหน้าที่บกพร่องปราศจากความระมัดระวังโดยไม่ร่วมกันตรวจรับน้ำมันตามคำแนะนำของโจทก์นั้น เห็นว่าในแต่ละวันมีรถบรรทุกน้ำมันมาส่งน้ำมันจำนวนมาก การจะให้คณะกรรมการร่วมตรวจพร้อมกันทุกจุดทุกคันเป็นการไม่สะดวกและเสียเวลามาก การแบ่งหน้าที่ช่วยกันตรวจนั้นจึงไม่เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ อย่างไรก็ตามโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่า การแบ่งหน้าที่ดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายอะไรบ้าง เท่าใด อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เรื่องที่จำเลยยอมให้รถบรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียนส.ค.00216 บ-9450 พบ.03478 และ 1บ-4976 ซึ่งเป็นรถที่มิได้ตรวจสอบปริมาตรไว้บรรทุกน้ำมันมาส่ง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการบกพร่องเช่นนั้นทำให้น้ำมันของโจทก์สูญหายไปจำนวนเท่าใดเรื่องเซ็นรับน้ำมันไม่ลงวันเดือนปีในใบรับน้ำมันนั้น เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ซึ่งมิได้เป็นผลให้น้ำมันสูญหาย เรื่องการกรอกรายการรับน้ำมันลงในสมุดเอกสารหมาย จ.49 ผิดพลาด ซึ่งเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า การบกพร่องดังกล่าวทำให้โจทก์สูญเสียน้ำมันไปจำนวนเท่าใด สรุปแล้วข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่า การบกพร่องต่อหน้าที่ต่าง ๆ ของจำเลยทั้งเจ็ดตามที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายนอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ยังขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์อันเป็นความรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานอีกด้วย จึงเห็นสมควรวินิจฉัยพร้อมกันไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการตรวจรับน้ำมัน จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องร่วมกันตรวจรับ ต้องตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถว่าตรงกับที่ตรวจสอบไว้แล้วหรือไม่ และตรวจดูว่าวาล์วและตราปิดผนึกไว้มีรอยชำรุดหรือไม่ จะต้องเปิดฝาถังน้ำมันของรถตรวจดูว่ามีน้ำมันท่วมแป้นหรือไม่ หลังจากนั้นจะต้องใช้เหล็กซึ่งทาน้ำยาจุ่มลงไปในถังน้ำมันเพื่อตรวจสอบว่ามีน้ำปลอมปนหรือไม่ เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้วจึงจะให้เปิดท่อน้ำมันจากรถต่อเข้าท่อสูบน้ำมันขึ้นไปสู่ถังเก็บน้ำมันใหญ่ของโจทก์ และยังต้องดำเนินการให้น้ำมันในรถบรรทุกถ่ายลงจากรถทั้งหมด เมื่อตรวจถูกต้องแล้วจึงจะมีการเซ็นรับน้ำมันในใบรับของและใบส่งของเห็นได้ชัดว่าระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในการตรวจรับน้ำมันนี้เป็นการตรวจสอบมิให้มีการส่งน้ำมันมาไม่ครบถ้วนและป้องกันมิให้มีการถ่ายน้ำมันออกจากรถบรรทุกน้ำมันไม่หมดแล้วถูกเบียดบังไปจำเลยทั้งเจ็ดจะต้องร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตามคำแนะนำของโจทก์เพื่อร่วมกันตรวจสอบและควบคุมการทำงานทุกขั้นตอน หากแบ่งหน้าที่กันทำแล้วก็จะไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กรรมการคนหนึ่งปล่อยให้รถบรรทุกน้ำมันคันหนึ่งบรรทุกน้ำมันมาไม่ครบจำนวนโดยไม่ตรวจวัดแป้นน้ำมัน กรรมการอีกคนหนึ่งเปิดท่อน้ำมันจากรถต่อเข้าท่อสูบน้ำมันขึ้นไปสู่ถังน้ำมันใหญ่โดยไม่คำนึงว่ากรรมการผู้ตรวจปริมาตรน้ำมันได้ตรวจสอบถูกต้องหรือไม่ เมื่อสูบน้ำมันเข้าถังน้ำมันใหญ่แล้ว กรรมการอีกคนหนึ่งก็เซ็นรับน้ำมันโดยไม่พิจารณาว่ามีการส่งมอบน้ำมันครบถ้วนหรือไม่ ดังนั้นการที่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ร่วมกันตรวจสอบน้ำมันตามคำสั่งของโจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หาใช่ไม่เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางไม่ การที่จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับน้ำมันยินยอมให้รถบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้ตรวจสอบปริมาตรไว้บรรทุกน้ำมันมาส่ง ย่อมมีผลทำให้มีการส่งน้ำมันมาให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามปริมาตร การเซ็นรับน้ำมันโดยไม่ลงวันเดือนปีในใบรับ ย่อมมีผลเป็นการเปิดโอกาสให้กลบเกลื่อนพยานหลักฐานว่า มีรถบรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียนใดมาส่งน้ำมันเที่ยวใดในวันใดบ้าง เพราะไม่อาจตรวจสอบวันเวลาทำงานของรถบรรทุกน้ำมันนั้นได้ การปล่อยให้ลายเซ็นของคนขับรถน้ำมันในใบรับของกับใบส่งน้ำมันไม่ตรงกันและกรอกรายการลงในสมุดรายการจดทะเบียนรถยนต์รับน้ำมันผิดพลาดก็จะมีผลให้มีการลักน้ำมันในระหว่างขนส่งได้ กล่าวคือ คนขับรถน้ำมันที่แท้จริงซึ่งบรรทุกน้ำมันออกมาจากต้นทางครบถ้วนตามปริมาตร ระหว่างทางอาจจะขนถ่ายน้ำมันใส่รถบรรทุกน้ำมันอีกคันหนึ่งแล้วให้รถคันที่รับถ่ายน้ำมันนำน้ำมันมาส่งให้โจทก์ รถบรรทุกน้ำมันคันแรกอาจจะถ่ายน้ำมันไม่หมดและลักเอาน้ำมันส่วนที่เหลือในรถไป ถ้าจำเลยตรวจสอบโดยเคร่งครัดว่า คนขับรถบรรทุกน้ำมันและหมายเลขทะเบียนรถที่ออกมาต้นทางตามใบส่งน้ำมันตรงกับใบรับของแล้ว การแอบขนถ่ายน้ำมันระหว่างทางโดยการเปลี่ยนรถบรรทุกก็ไม่สามารถทำได้การบกพร่องต่อหน้าที่ของจำเลยทั้งเจ็ดแม้ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการร่วมกันทุจริต แต่ฟังได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจรับน้ำมันของจำเลยทั้งเจ็ดนั้น น้ำมันได้ขาดหายไปจำนวน 263,603 ลิตร จำนวนน้ำมันที่ขาดหายไปนี้จึงเกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดและการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานของจำเลยทั้งเจ็ดจำเลยทั้งเจ็ดจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์โดยไม่จำเป็นต้องนำสืบว่า การบกพร่องต่อหน้าที่ของจำเลยแต่ละคนหรือแต่ละคราวนั้นเป็นเหตุให้โจทก์สูญเสียน้ำมันไปจำนวนเท่าใดเพราะจำเลยทั้งเจ็ดมีหน้าที่ร่วมกันตรวจรับน้ำมัน จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฯลฯ
พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 23,825 บาท และให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 7 ตามลำดับ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเป็นเงิน1,082,243.29 บาท กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินที่จะต้องชำระนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.