คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทำสัญญาประกันตัวจำเลยคดีอาญาไปจากศาลมีข้อความว่า ในระหว่างประกันผู้ร้องหรือจำเลยจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล มิฉะนั้นผู้ร้องยอมใช้เงินจำนวนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยเซ็นทราบวันนัดของศาลแล้ว จำเลยไม่มาศาลตามนัด เพราะหลงลืมจำวันนัดผิด อันเป็นความผิดของจำเลยเอง ก็ถือได้ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามนัดของศาล และต้องถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นนายประกันได้ประพฤติผิดข้อสัญญาประกันดังกล่าวแล้ว ศาลมีอำนาจที่จะสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นควรได้แล้ว
ในวันที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายประกันผิดนัด ศาลเพียงแต่มีคำสั่งว่าจำเลยและผู้ร้องผิดสัญญาประกัน กับให้หมายนัดผู้ร้องส่งตัวจำเลยใน 7 วัน ผู้ร้องและจำเลยไม่ได้มาศาลตามหมายนัด ศาลจึงสั่งปรับผู้ร้องในวันนัดถัดมา แม้ในนัดหลังนี้ผู้ร้องและจำเลยไม่มาศาล เพราะไม่ได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลย ก็ไม่เป็นการขัดขวางแก่การที่ศาล จะสั่งปรับผู้ร้อง เพราะถือได้ว่าผู้ร้องผิดสัญญาประกันมาตั้งแต่นัดแรกนั้นแล้ว

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174, 90, 91ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวโดยมีหลักประกันศาลชั้นต้นอนุญาตได้ทำสัญญาประกันไว้ตามสัญญาประกันลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2514 นัดสืบพยานโจทก์ นัดแรกตัวโจทก์ป่วย โจทก์ขอเลื่อนไปสืบพยานวันที่ 9 สิงหาคม 2514 เวลา 8.30 นาฬิกา จำเลยเซ็นทราบวันนัดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถึงวันนัดจำเลยและผู้ร้องไม่มาศาลโดยไม่ทราบสาเหตุศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยและผู้ร้องผิดสัญญาประกันแต่ตัวโจทก์ป่วยโจทก์ขอเลื่อน ศาลสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 22 กันยายน 2514 เวลา 8.30 นาฬิกา และให้หมายนัดผู้ร้องส่งตัวจำเลยใน 7 วัน

ในวันที่ 22 กันยายน 2514 จำเลยและผู้ร้องไม่มาศาล ปรากฏว่าเจ้าพนักงานไม่ได้ส่งหมายนัดให้ผู้ร้องตามคำสั่งศาล และนัดนี้ทนายโจทก์ขอถอนตัวจากการเป็นทนาย ศาลสั่งเลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 1 พฤศจิกายน 2514 เวลา 8.30 นาฬิกา และสั่งปรับผู้ร้องตามสัญญาประกัน กับให้หมายจับจำเลย

วันที่ 27 กันยายน 2514 จำเลยและผู้ร้องมาศาล จำเลยแถลงว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงหลบหนี เพราะจำเลยได้ฟ้องคดีแพ่งโจทก์ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และอยู่ที่ศาลชั้นต้นเดียวกัน จึงหลงลืมวันนัดผิดวันไป ส่วนผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องไม่ได้มาศาล จึงไม่ทราบวันนัดแต่ได้กำชับให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัดผู้ร้องไม่ได้รับหมายของศาลให้ส่งตัวจำเลย แต่เมื่อทราบเรื่องจากทนายจำเลยก็รีบนำจำเลยมาส่งศาลขอให้งดโทษปรับผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องนำจำเลยมาส่งศาล จึงลดค่าปรับให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง (คงปรับ 15,000 บาท)

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่ได้มาศาลเพราะฤดูทำนามีภาระแต่ได้กำชับจำเลยแล้ว ที่มิได้นำจำเลยมาศาลวันที่ 9 สิงหาคม 2514 ก็โดยเชื่อว่าจำเลยต้องมาศาลตามนัด ผู้ร้องไม่เคยได้รับหมายนัดให้ส่งตัวจำเลยมาศาลมิได้มีเจตนาผิดสัญญาประกัน ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่น่าหลบหนีคดี ที่จำเลยไม่มาศาลตามนัดเพราะความเข้าใจผิดหรือหลงลืม และหมายนัดให้ส่งตัวจำเลยก็ยังมิได้ส่งให้ผู้ร้องจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องผิดนัดไม่มาศาลและส่งตัวจำเลยคดีที่จำเลยถูกฟ้อง ศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว จึงเห็นว่ายังไม่สมควรจะปรับผู้ร้องตามมาตรา 119

พนักงานอัยการฎีกาขอให้ปรับผู้ร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นมีข้อความในข้อ 2 ว่า

“ข้อ 2 ในระหว่างประกันนี้ ข้าพเจ้าหรือนายแจ้ง บุตรดำจำเลยจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินจำนวนสามหมื่นบาทให้แก่ศาลจนครบ”

ตามข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในระหว่างประกัน นายประกันหรือจำเลยก็ดี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาลมิฉะนั้นนายประกันยอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวนสามหมื่นบาทให้แก่ศาลจนครบ เมื่อจำเลยได้เซ็นทราบวันนัดของศาลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน2514 ในรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งศาลสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่9 สิงหาคม 2514 เวลา 8.30 นาฬิกา และจำเลยไม่มาศาลตามนัด เพราะหลงลืมจำวันนัดผิด อันเป็นความผิดของจำเลยเอง ถือได้ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามนัดของศาล และต้องถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นนายประกันได้ประพฤติผิดสัญญาตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 2 แห่งสัญญาประกันแล้วศาลมีอำนาจที่จะสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นควรได้แล้วตามมาตรา 119 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลชั้นต้นก็ยังมิได้สั่งบังคับตามสัญญาไปในวันที่ 9 สิงหาคม 2514เพียงแต่มีคำสั่งว่าจำเลยและผู้ร้องผิดสัญญาประกันเท่านั้น เพิ่งมาสั่งปรับผู้ร้องตามสัญญาประกันในวันที่ 22 กันยายน 2514 ซึ่งเป็นวันนัดที่เลื่อนมา แม้ในนัดนี้ผู้ร้องจะไม่ได้รับหมายนัดให้ผู้ร้องนำตัวจำเลยมาส่งศาล ก็ไม่เป็นการขัดขวางแก่การที่ศาลจะสั่งปรับผู้ร้อง เพราะถือได้ว่าผู้ร้องได้เป็นผู้ผิดสัญญาประกันมาตั้งแต่ วันที่ 9 สิงหาคม 2514 แล้ว

แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว สมควรจะปรับผู้ร้องหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นเรื่องดุลพินิจของศาล ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยผิดนัดไม่มาศาลในวันที่ 9 สิงหาคม 2514 และในวันที่ 22 กันยายน 2514 มิได้เป็นเหตุประวิงคดีทำให้การพิจารณาคดีล่าช้าเพราะโจทก์เป็นฝ่ายขอเลื่อนการสืบพยานของโจทก์ เมื่อศาลสั่งเลื่อนไปสืบพยานวันที่ 1 พฤศจิกายน 2514 ผู้ร้องทราบเรื่องก็รีบนำจำเลยส่งศาลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2514 มิได้ทำให้วันนัดของศาลเสียไป

พิพากษากลับ ให้ปรับผู้ร้องทั้งสองฐานผิดสัญญาประกัน เป็นเงินห้าร้อยบาท

Share