คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ซึ่งความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน มาตรา 820 มีความหมายว่ากิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสิบหกสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งห้าสิบหกเป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งห้าสิบหกไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งห้าสิบหกมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 29 ถึงที่ 34 และที่ 50 อีก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้าสิบหก
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งห้าสิบหก โจทก์ที่ 10 ที่ 11 ที่ 31 และที่ 57 ทำงานไม่ครบ 120 วัน ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนอกจากนั้นโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 ถึงที่ 34 ที่ 36 ถึงที่ 41 ที่ 44 ถึงที่ 55 ที่ 57 ถึงที่ 60 และที่ 62 ถึงที่ 64 ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน และได้รับค่าจ้าง 30 วันสุดท้ายไม่เกินคนละ 3,000 บาท ทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 31 ที่ 50 และที่ 57 ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อเลิกกิจการจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างไปครบถ้วน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าสิบหก จำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งห้าสิบหกจึงไม่ต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 50 คนละ 5,000 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 2 และที่ 4 คนละ 6,000 บาท และ 6,000 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 5 จำนวน 4,800 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 9 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 25 ถึงที่ 30 ที่ 32 ที่ 34 ที่ 36 ถึงที่ 41 ที่ 44 ถึงที่ 49 ที่ 51 ถึงที่ 55 ที่ 57 ถึงที่ 60 และที่ 62 ถึงที่ 64 คนละ 4,350 บาท และ 4,350 บาท ตามลำดับ และโจทก์ที่ 33 จำนวน 5,400 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 10 ที่ 11 และที่ 31 คนละ 4,350 บาท จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 23 และที่ 50 คนละ 500 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 4 คนละ 1,500 บาท และโจทก์ที่ 24 จำนวน 1,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องสำนวนแรก (ฟ้องวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้และฟ้องโจทก์ที่ 14 ที่ 20 ที่ 22 ที่ 35 ที่ 42 ที่ 43 ที่ 56 และที่ 61 ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 ถึงที่ 34 ที่ 36 ถึงที่ 41 ที่ 44 ถึงที่ 55 ที่ 57 ถึงที่ 60 และที่ 62 ถึงที่ 64 ตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 บัญญัติว่า “ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน” และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาตรา 820 บัญญัติว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน” ซึ่งมีความหมายว่า กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการ จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 23 ถึงที่ 34 ที่ 36 ถึงที่ 41 ที่ 44 ถึงที่ 55 ที่ 57 ถึงที่ 60 และที่ 62 ถึงที่ 64 โดยไม่ได้ระบุว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share