คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาศัยฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างและจำเลยเป็นนายจ้าง เงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากจำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1)ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน หาใช่เป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด ตามมาตรา 42(13) ไม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างชำระ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจากจำเลย ในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าค่าจ้างค้างชำระ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยตามฟ้องโจทก์ได้รับชำระจากจำเลยแล้ว คดีคงมีประเด็นเฉพาะค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมโดยจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 85,440 บาท และจำเลยได้นำเงินมาวางศาลเพื่อให้โจทก์รับไปเป็นเงิน 77,180.48 บาท โดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน8,259.52 บาท พร้อมกับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไป โจทก์ยื่นคำร้องว่าเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ไม่ได้มีลักษณะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง หรือประโยชน์ใด ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 แต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องและที่ศาลกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร จำเลยไม่มีหน้าที่หักภาษีของโจทก์ไว้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,259.52 บาทที่ยังขาดแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้นัดพร้อม ในวันนัดพร้อมศาลแรงงานกลางเห็นว่า จำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจึงเป็นค่าเสียหายเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(13) แต่เป็นเงินได้พึงประเมินที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ การที่จำเลยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน8,259.52 บาทจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า จำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นมูลละเมิดของจำเลยที่ใช้สิทธิโดยมิชอบเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับชำระค่าเสียหายนอกเหนือจากเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(13)จำเลยไม่มีสิทธิหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย เห็นว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมจ่ายเงินจำนวน 85,440 บาทแก่โจทก์ ก็เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยอาศัยฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างและจำเลยเป็นนายจ้าง เงินค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากจำเลยจึงเป็นเงินได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินหาใช่เป็นค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามมาตรา 42(13) ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ จำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีที่หักไว้จำนวน 8,259.52 บาทคืนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำสั่งของโจทก์มานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share