แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลย 13 สำนวน สำนวนละหลายข้อหา เมื่อข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี นั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218
จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนตามฟ้องจำเลยไม่ได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความกับจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และที่โจทก์จำเลยต่างฎีกาว่า กำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้นหนักหรือเบาเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้วและมีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเอ็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการ
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนยานพาหนะปลอมใบเสร็จรับเงินแล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา 266 และ 253
ย่อยาว
โจทก์และจำเลยเป็นคน ๆ เดียวกัน โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็น ๑๓ สำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับดวงตราและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๑, ๒๕๓, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๗, ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ริบใบรับเงินของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๙,๕๗๗ บาท ๕๐ สตางค์ แก่กรมตำรวจและนับโทษต่อกันทั้ง ๑๓ สำนวน
จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหา และรับว่าเป็นคนเดียวกันทั้ง ๑๓ สำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ จำคุกจำเลยสำนวนละ ๑๐ ปี รวม ๑๒ สำนวน จำคุก ๑๒๐ ปี ตามมาตรา ๒๕๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๕๑ จำคุกสำนวนละ ๒ ปี รวม ๑๒ สำนวนจำคุก ๒๔ ปี และตามมาตรา ๒๖๖ จำคุกสำนวนละ ๕ ปี รวม ๑๒ สำนวน จำคุก ๖๐ ปี รวม ๒๐๔ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๐๒ ปี (ที่ลงโทษ ๑๒ สำนวนเพราะมีคดีหนึ่งที่โจทก์ได้แยกฟ้องข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กับข้อหาความผิดเกี่ยวกับดวงตราและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เป็น ๒ สำนวน) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๙,๕๗๗ บาทแก่กรมตำรวจ คดีทั้ง ๑๓ สำนวน ศาลได้รวมพิจารณาแล้วจึงไม่จำต้องนับโทษต่อ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มูลเหตุที่จำเลยใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับในใบเสร็จรับเงินปลอม เพราะต้องการให้ใบรับเงินมีความแนบเนียนเรียบร้อยยิ่งขึ้น จำเลยมีจุดประสงค์เพียงต้องการปลอมใบเสร็จรับเงินอย่างเดียวเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ สำนวนละ ๕ ปี รวม ๑๒ สำนวน จำคุก ๖๐ ปี และตามมาตรา ๒๖๖ สำนวนละ ๒ ปี รวม ๑๒ สำนวน จำคุก ๒๔ ปี รวม ๘๔ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยต่างฎีกาทุกสำนวน มีปัญหารวม ๕ ประเด็น คือ
๑. การสอบสวนคดีตามฟ้อง จำเลยได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความแล้วหรือไม่
๒. จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
๓. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์เป็นเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการหรือไม่
๔. การที่จำเลยนำดวงตราเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ เป็นความผิดหลายกระทง
๕. กำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้น หนักหรือเบาเกินไปหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้ง ๑๓ สำนวนนี้ สำหรับข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสำนวนละ ๕ ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ ๒ ปี ๖ เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสารศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ ๒ ปี ๖ เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ ๑ ปีนั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยไม่เกิน ๕ ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ดังนั้น ตามประเด็นข้อ ๑, ข้อ ๒ และ ข้อ ๕ ที่โจทก์จำเลยฎีกามานั้นต่างก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทมาตราดังกล่าว
ในประเด็นข้อ ๓ จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบเสร็จรับเงินหาใช่เอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการไม่ เพราะใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้แก่เจ้าของรถยนต์นั้น ก็เพื่อนำไปรับเอกสารแสดงการเสียภาษีรถยนต์ (ป้ายวงกลม) เท่านั้น จึงมิได้เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ์ใด ๆ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการ เห็นว่า “เอกสารสิทธิ์” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ์ และ “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย ดังนั้น เมื่อการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ ย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้ตามที่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระได้ชำระแล้ว มีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป ฉะนั้น จึงถือได้ว่าใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ทางราชการออกให้เป็นเอกสารสิทธิ์อันเป็นเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖
ประเด็นข้อ ๔ โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยปลอมใบรับเงินอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ แล้ว จำเลยได้ใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับในใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๓ นั้น จึงมิใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หากแต่เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เห็นว่า การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินแล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงไปด้วยนั้น ก็โดยเจตนาที่จะทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับและให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง เมื่อกรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะแยกการกระทำความผิดออกจากกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
พิพากษายืน