คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในที่นาของโจทก์ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้เพียงบางส่วน จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนพระภิกษุ ทองพูนบิดาโจทก์จำเลย ตามหนังสือรับรองที่โจทก์ทำไว้กับพระภิกษุ ทองพูนเอกสารหมาย ล.1 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.1 ไว้จริง จำเลยทั้งสองเข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทโดยเชื่อว่ามีสิทธิเข้าไปทำได้โดยสุจริต จึงไม่มีเจตนาบุกรุกพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในคดีนี้หาว่าบุกรุกที่ดินพิพาทในคดีอาญาและที่ดินแปลงอื่นจนเต็มพื้นที่ การฟ้องคดีนี้ส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทบริเวณเดียวกันกับในคดีอาญา จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีอาญาศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ทำเอกสารหมาย ล.1 ไว้จริง และคดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนพระภิกษุ ทองพูน โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๓ แปลง เป็นที่นา ๒ แปลงและที่ดินปลูกบ้าน ๑ แปลง ได้มาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงตลอดมา เมื่อเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๗ จำเลยทั้งสามได้บุกรุกเข้าไปไถนาและปักดำในที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลง โดยที่นาตาม น.ส.๓ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ บุกรุกเข้าไปทำนาเป็นเนื้อที่ประมาณ๘ ไร่ ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนที่นา น.ส.๓ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๒ บุกรุกเข้าไปเต็มแปลง โจทก์ห้ามปรามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ และก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และโจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินทั้งสามแปลง ที่ดินพิพาทเป็นของพระภิกษุทองพูน เมืองจันทร์ บิดาโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตอนพระภิกษุทองพูนยังไม่ได้บวชได้ให้ลูก ๆ ทุกคนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางราชการได้เดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์พระภิกษุทองพูนได้มอบให้โจทก์เป็นตัวแทนขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยให้ใส่ชื่อโจทก์แทนไว้ก่อนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของบิดา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปความสำคัญได้ว่า เอกสารหมาย ล.๑ ที่มีข้อความให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเพื่อแบ่งให้น้อง ๆ ต่อไปนั้นเป็นเอกสารที่ทำปลอมขึ้นเห็นว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๗๕๔/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในที่นาของโจทก์ตาม น.ส.๓ก เลขที่ ๑๒๔๒ จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนตามหนังสือรับรองที่โจทก์ทำไว้กับพระภิกษุทองพูน บิดาโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.๑ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.๑ จริงจำเลยทั้งสองเข้าไปทำนาในที่ดินพิพาท โดยเชื่อว่ามีสิทธิเข้าไปทำได้โดยสุจริต จึงไม่มีเจตนาบุกรุก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ หาว่าร่วมกับจำเลยที่ ๑ บุกรุกที่ดินพิพาท แปลงเดียวกันรวมทั้งที่ดินแปลงอื่นในคดีนี้อีก พิจารณาแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.๒ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๗๕๔/๒๕๒๘ กับที่ดินพิพาทตามภาพถ่าย น.ส.๓ก เอกสารหมาย จ.๑ คดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ว่าฝ่ายจำเลยบุกรุกเข้าไปทำนาทางทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่ง เห็นว่าบริเวณที่หาว่าบุกรุกเป็นบริเวณเดียวกันเพียงแต่คดีนี้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจนเต็มเนื้อที่ทางทิศตะวันออกทั้งตามฟ้องในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ก็เป็นการบุกรุกในช่วงเวลาเดียวกันจึงเชื่อว่าเป็นการบุกรุกในคราวเดียวกัน การฟ้องคดีนี้ส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทบริเวณเดียวกันกับคดีอาญา จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว แม้ในคดีอาญาศาลชั้นต้นเพียงแต่วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกจึงไม่มีความผิดตามฟ้องแต่ศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ได้ทำหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.๑ ไว้จริง แล้วจึงอาศัยข้อความในเอกสารดังกล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยถึงเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดอาญา ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.๑ ไว้จริงหรือไม่ เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งต่างเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาเป็นคดีนี้อีก และมีประเด็นโต้เถียงอย่างเดียวกันว่า เอกสารหมาย ล.๑ ในคดีอาญานั้นปลอมหรือไม่ ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท้จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วในคดีอาญาดังกล่าวว่าโจทก์ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.๑ จริง โจทก์จะโต้เถียงว่าเป็นเอกสารปลอมหาได้ไม่ และการรับฟังเอกสารดังกล่าวก็ต้องรับฟังทั้งฉบับเพราะมีข้อความกล่าวรวมถึงทรัพย์สินอื่นของบิดาโจทก์หลายอย่างมิได้หมายถึงเฉพาะทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีอาญาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อตามเอกสารหมาย ล.๑ มีใจความสำคัญว่าโจทก์สัญญาว่าบิดาโจทก์ได้มอบที่สวนและที่นาซึ่งก็คือที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในคดีนี้กับทรัพย์อื่นให้โจทก์เป็นผู้รับรักษาทำกินโดยจะไม่ยึดถือเป็นของตนแต่ผู้เดียว และจะยอมแบ่งให้น้องทุกคน ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิของบิดาโจทก์ในทรัพย์ดังกล่าว การที่โจทก์ครอบครองที่พิพาททั้งสามแปลงต่อมาจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนบิดาโจทก์เพื่อแบ่งให้น้อง ๆ ต่อไปเท่านั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่บิดาโจทก์เรียกโจทก์ไปทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.๑ แสดงว่าโจทก์ได้อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และเมื่อครอบครองเกิน ๑ ปีโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงหลังจากทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.๑ เป็นเพียงการครอบครองแทน ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นการยึดถือเพื่อตน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๓๘๑ ตั้งแต่เมื่อใด แม้โจทก์จะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ย่อมมีสิทธิเข้าทำกินในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของพระภิกษุทองพูน บิดา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ตอ่ไป คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share