คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22779/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนองตามมาตรา 74 เมื่อผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับกรณีที่ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหก ซึ่งมาตรา 41 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ได้กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ดังนั้นเมื่อ บสท. เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว บสท. จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 เมื่อในคดีเดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บสท. เป็นฝ่ายชนะคดี บสท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้วจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ การที่ บสท. ไปขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ถึง 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามคำขอจดทะเบียนลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ถึงเลขที่ 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามคำขอจดทะเบียนลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งสามนำที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ถึง 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองและขึ้นวงเงินจำนองไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้เงินกู้และหนี้สินประเภทอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีธนโอโตมีต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีธนโอโตและโจทก์ทั้งสามให้ชำระหนี้และบังคับจำนองต่อศาลแพ่งธนบุรี ในระหว่างพิจารณาคดี ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่แก่โจทก์ทั้งสามอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่จำเลยตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จำเลยมอบอำนาจให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่อศาลขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และขอให้ศาลดำเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 4515/2546 ว่าหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 13103 ถึง เลขที่ 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย เพื่อขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสาม โดยอ้างว่าเป็นการโอนตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 เจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการตามคำขอของจำเลย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า กรณีที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่เป็นบทบังคับว่าจะต้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพียงอย่างเดียว อีกทั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ ทั้งนี้ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมตลอดทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือโดยการใช้มาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีอำนาจในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการบังคับคดี ดังที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 3 การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน มาตรา 74 บัญญัติว่า ในกรณีที่ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองหรือบังคับจำนำกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ให้ บสท. มีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้และผู้จำนองหรือผู้จำนำชำระหนี้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว โดยจะต้องระบุด้วยว่าหากบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด บสท. จะบังคับชำระหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 75 บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้ ผู้จำนอง หรือผู้จำนำ ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 74 ให้ บสท. มีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ และมาตรา 76 บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่ 3 การจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เป็นกรณีที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือ บสท. ประสงค์จะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน สำหรับทรัพย์สินด้อยคุณภาพในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำนอง จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในมาตรา 74 หากผู้จำนองไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว บสท. จึงมีอำนาจดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นได้ โดยวิธีการขายทอดตลาด เว้นแต่ บสท. เห็นว่า การจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยดำเนินการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 30 วรรคหก ที่บัญญัติว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนมาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลโดยศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาด้วย โดยให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่ บสท. จะยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น แต่ไม่รวมถึงสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวหรือเด็ดขาดหรือให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว และในมาตรา 41 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 30 ในคดีที่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ฟ้องเป็นคดีต่อศาลเกี่ยวกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. รับโอนมาตามพระราชกำหนดนี้ ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ในการนี้ บสท. อาจคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านหรือคัดค้านพยานที่สืบไปแล้วได้ ส่วนวรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ บสท. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น และวรรคสามบัญญัติว่า ให้ บสท. ได้รับยกเว้นบรรดาค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด การขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นเมื่อจำเลยเลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ แทนที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแต่ก็หาได้กระทำไม่จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา 41 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อในคดีเดิมศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จำเลยจึงต้องดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีที่พิพากษาว่า หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ถึงเลขที่ 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13103 ถึงเลขที่ 13106 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share