คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2420/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานตามโครงการสำรวจที่ดินเพื่อเวนคืนโดยครั้งแรกคาดว่างานตามโครงการจะเสร็จภายใน 8 เดือน แต่เมื่องานไม่เสร็จ การจ้างโจทก์จึงกระทำเป็นช่วง ๆ ติดต่อกันมา เมื่อช่วงสุดท้ายสัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยก็เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นการตกลงจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนทุกช่วง โจทก์จึงเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และจำเลยเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์สำนวนที่ 2ถึงที่ 6 พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องโจทก์สำนวนที่ 1 โจทก์สำนวนที่ 11 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์สำนวนที่ 1 อุทธรณ์ว่า การจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการจ้างต่อเนื่องกันรวม 4 ช่วง แม้จะมีการกำหนดเวลาแต่ละช่วงไว้แน่นอนก็ตาม แต่แล้วงานแต่ละช่วงก็ไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจำเป็นต้องจ้างต่อเรื่อยไปจนกว่างานจะแล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่ 5 ที่ 6 หรือ 7 ก็ย่อมได้ ระยะเวลาการจ้างที่ได้กำหนดไว้นั้นเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น แสดงให้เห็นได้ชัดว่า กำหนดระยะเวลาที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นระยะเวลาที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ ศาลแรงงานกลางฟังว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งสองในสำนวนที่ 1 เป็นลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานตามโครงการสำรวจที่ดินที่แหลมฉบังเพื่อเวนคืน โดยครั้งแรกคาดว่างานตามโครงการจะเสร็จภายใน 8 เดือน แต่เมื่องานไม่เสร็จ การจ้างโจทก์จึงกระทำเป็น 4 ช่วงติดต่อกัน โดยกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนทุกช่วง ช่วงสุดท้ายสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2520 ซึ่งจำเลยก็เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ และศาลแรงงานกลางเห็นว่า งานที่ทำ (คงหมายถึงงานที่จำเลยจ้างให้โจทก์ทั้งสองทำ) มีลักษณะเป็นครั้งคราว เหตุที่ต้องจ้างติดต่อกันหลายช่วงก็เพราะความผิดพลาดของแผนงาน โจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น ตามบทนิยามในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2415 แม้อายุการทำงานของโจทก์ทั้งสองจะเกิน 120 วัน ทำให้มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำตามข้อ 75 ของประกาศฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ในชั้นอุทธรณ์นี้ คดีไม่มีปัญหาโต้เถียงกันในข้อที่ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันเกิน 120 วัน โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านแต่ว่าการจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า กำหนดเวลาที่งานตามโครงการจะแล้วเสร็จต่างหากที่ไม่แน่นอนเพราะจำเลยคาดคะเนผิดพลาดไป ทำให้ต้องจ้างโจทก์ทั้งสองต่ออีก 3 ช่วงระยะเวลา แต่การจ้างโจทก์ให้ทำงานในโครงการนี้จำเลยได้ตกลงจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนทุกช่วง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้างช่วงสุดท้ายจำเลยก็เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และจำเลยเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 วรรคสาม ตามที่แก้ไขโดยประกาศฯ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2517”

พิพากษายืน

Share