แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ข้อ 6 และข้อ 22 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมโดยชอบตามมาตรา 23 ต่อมาได้มีมติของที่ประชุมมหาเถรสมาคมตีความในข้อ 23 กำหนดคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 6 และข้อ 22 โดยข้อความตามข้อ 23 ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาจะต้องตีความ การตีความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มหาเถรสมาคมแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมโดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส อันเป็นการตรากฎมหาเถรสมาคมเพิ่มเติม ต้องประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ เมื่อปรากฏว่าเพิ่งจะลงประกาศภายหลังจากที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสโดยชอบแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้เพราะจะเป็นการใช้บังคับย้อนหลัง ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งว่าการแต่งตั้งโจทก์เป็นเจ้าอาวาสเป็นโมฆะเพราะขาดคุณสมบัติตามมติตีความของที่ประชุมมหาเถรสมาคมดังกล่าวจึงเป็นการมิชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมโดยชอบด้วยกฎหมายและกฎมหาเถรสมาคม ต่อมาจำเลยได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๓ มีหนังสือเป็นคำสั่งถึงเจ้าคณะภาค ๑ เพื่อแจ้งไปยังจำเลยที่ ๔ ว่าการแต่งตั้งโจทก์เป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมเป็นโมฆะ และแจ้งต่อไปยังจำเลยที่ ๕ และที่ ๖ เพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบ จำเลยที่ ๓ อ้างในคำสั่งว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ข้อ ๒๓ เพราะโจทก์สังกัดอยู่วัดอื่น มีคุณสมบัติไม่สูงกว่าพระภิกษุที่สังกัดอยู่ในวัดและขัดต่อความเห็นส่วนใหญ่ของสงฆ์และทายกทายิกาแห่งวัด คุณสมบัติดังกล่าวไม่มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม แต่เป็นระเบียบหรือกฎที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังจากที่โจทก์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว จึงนำมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้และเป็นระเบียบหรือกฎที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าระเบียบที่ตั้งขึ้นใหม่และคำสั่งของจำเลยที่ ๓ มิชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเสีย
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมแล้ว มีผู้ร้องเรียนต่อมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมได้มีการประชุมพิจารณาตีความกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ข้อ ๒๓ และมีมติไว้ ซึ่งโจทก์ไม่มีคุณสมบัติตามมติดังกล่าว จำเลยที่ ๓ จึงมีหนังสือแจ้งการแต่งตั้งเป็นโมฆะไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงโจทก์ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและกฎมหาเถรสมาคม การตีความดังกล่าวมิใช่เป็นการสร้างกฎหรือระเบียบขึ้นใหม่ จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มติของมหาเถรสมาคมตามฟ้องจะนำมาใช้บังคับแก่กรณีโจทก์ไม่ได้ และคำสั่งของจำเลยที่ ๓ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนเสีย สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ กับคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การตีความข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคมไม่เป็นมติที่ตั้งขึ้นใหม่ คำสั่งของจำเลยที่ ๓ ชอบแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่จะมีมติของมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับเรื่องการตีความในข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) คุณสมบัติของเจ้าอาวาสตามที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าโจทก์ไม่มีนั้น ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน แต่เป็นคุณสมบัติที่มหาเถรสมาคมกำหนดขึ้นใหม่และประกาศภายหลังที่โจทก์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมแล้ว โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ข้อ ๖ และข้อ ๒๒ จำเลยที่ ๔ แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมโดยชอบ ตามอำนาจที่ระบุไว้ในกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าวข้อ ๒๓ กฎมหาเถรสมคมต้องประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ ข้อที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าการแต่งตั้งโจทก์เป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมเป็นโมฆะเพราะขัดกับมติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับเรื่องการตีความในข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) นั้น ปรากฏตามรายงานการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๗/๒๕๒๑ ลงวันที่๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๑ ตามเอกสารหมาย ล.๓ ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้พิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดแหลมได้เสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมว่า การพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้ควรดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ เพื่อการแต่งตั้งตามความในข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการได้ตราไว้กว้าง ๆ ผู้ที่ไม่ทราบความหมายหรืออธิบายความย่อมมีช่องทางที่จะทำให้การปฏิบัติคลาดเคลื่อนจากตัวบทได้ ขอให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว มีมติตีความไว้ว่า
๑. โดยปกติ ภิกษุผู้ควรแก่การพิจารณาคัดเลือก ต้องเป็นพระภิกษุผู้สังกัดอยู่ในวัดนั้น
๒. โดยมีเหตุพิเศษแม้จะมีพระภิกษุมีคุณสมบัติสังกัดอยู่ในวัดแล้ว แต่ถ้าเห็นเป็นการสมควรจะพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุที่สังกัดอยู่ในวัดอื่นก็ได้แต่พระภิกษุนั้น ต้อง
(๑) มิใช่พระสังฆาธิการระดับวัด
(๒) มีคุณสมบัติสูงกว่าพระภิกษุที่สังกัดอยู่ในวัด และ
(๓) ข้อปรึกษาของสงฆ์ และทายกทายิกาแห่งวัดนั้น ต้องเป็นความเห็นที่แสดงถึงความต้องการสูงกว่ากันโดยชัดแจ้ง
๓. คำว่าทายกทายิกาแห่งวัดนั้น หมายถึงทายกทายิกาที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลหรือทะนุบำรุงโดยประการอื่น ที่วัดนั้นเป็นประจำตามสามัญสำนึกของบุคคลทั่วไป
ศาลฎีกาเห็นว่า มติตีความของที่ประชุมมหาเถรสมาคมดังกล่าวเป็นการกำหนดคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ข้อ ๖ และข้อ ๒๒ ทั้งข้อความตามข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าวก็ชัดเจน ไม่มีปัญหาที่จะต้องตีความ การที่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติตีความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มหาเถรสมาคมแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมเพิ่มเติมคุณสมบัติของพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส อันเป็นการตรากฎมหาเถรสมาคมเพิ่มเติม หาใช่เป็นการตีความอธิบายความหมายของกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าวข้อ ๒๓ ไม่ เมื่อมติตีความดังกล่าวเป็นกฎมหาเถรสมาคมและเพิ่งจะนำลงประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ จึงจะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแหลมโดยชอบตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๑ ไม่ได้ มิฉะนั้นจะเป็นการใช้บังคับย้อนหลัง อันจะเป็นเหตุให้โจทก์และเจ้าอาวาสวัดอื่น ๆ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ก่อนแล้วโดยชอบตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ข้อ ๒๓ ประกอบด้วยข้อ ๖ และข้อ ๒๒ ขาดคุณสมบัติไปตาม ๆ กัน ฉะนั้นการที่จำเลยที่ ๓ มีหนังสือด่วนมากที่ ๒๐/๒๕๒๑ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๑ สั่งแจ้งว่าการแต่งตั้งโจทก์เป็นเจ้าอาวาสเป็นโมฆะเพราะขาดคุณสมบัติตามมติตีความของที่ประชุมมหาเถรสมาคม จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๓ ตามหนังสือที่ ๒๐/๒๕๒๑ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๑ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์