คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 533 วรรคแรก เป็นอายุความ เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อฎีกามิได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2526)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นสามีภรรยากัน จำเลยที่ ๓ เป็นบุตรจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จำเลยที่ ๔ เป็นพี่ชายจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นหลานโจทก์ โจทก์อุปการะเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก โจทก์จดทะเบียนยกที่นาโฉนดเลขที่ ๑๖๒๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยเสน่หา บัดนี้โจทก์ชราภาพและยากไร้ ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์และหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยเสน่หาและโดยไม่สุจริต และจำเลยที่ ๓ ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๔ โดยฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กับที่ ๓ และเพิกถอนการจดทะเบียนการขายระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ แล้วให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้โดยมีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่เคยประพฤติเนรคุณหรือหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ ๓ ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๔ ก็ด้วยภาวะยากจน และเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๔ เพื่อชำระหนี้แทนโจทก์และให้โจทก์เป็นการตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ และระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ เฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๑ แล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินที่กลับมาเป็นของจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ ๑๖๒๓ ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ด้วยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แล้วให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โอนที่พิพาทกลับคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โดยเสน่หา จำเลยที่ ๑ ได้หมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยยังสามารถจะให้ได้และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทราบเหตุประพฤติเนรคุณแล้วมาฟ้องเป็นเวลาเกิน ๖ เดือนนับตั้งแต่วันทราบเหตุ คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กำหนดเวลาหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๓ วรรคแรกเป็นอายุความ เมื่อความข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share