คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1410/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โรงเรือนพิพาทของโจทก์เป็นตึกแถว 2 คูหา 4 ชั้น สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้ชัดเจน ดังนั้น ค่ารายปีที่จะนำมาคำนวณเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงสามารถคำนวณได้จากพื้นที่ของแต่ละส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์ได้ และส่วนใดจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ นั้น จะต้องพิจารณาเป็นส่วนๆ ไป
การที่โจทก์ให้ ว. กรรมการผู้จัดการโจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์เข้าพักที่ชั้น 2 และ 3 ของอาคารนี้ พร้อมครอบครัวเป็นการพักอาศัยมิใช่กรณีเจ้าของอยู่เองเพราะโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าของอาคาร และการเข้าพักพร้อมครอบครัวเป็นการพักอาศัยมิใช่เป็นการอยู่โดยโจทก์ให้อยู่เฝ้ารักษาอาคารตามความหมายในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 ต่อพนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่สำนักงานเขตพระนคร ต่อมาจำเลยได้แจ้งรายการประเมินให้โจทก์นำเงินไปชำระจำนวน 117,245 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์เห็นว่าโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่โจทก์ใช้เป็นที่พักอาศัยการประเมินไม่ชอบ จึงขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยขอให้ลดภาษีโรงเรือนรวมทั้งสิ้น 11,345 บาท ต่อมาจำเลยได้แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบว่าค่าภาษีที่โจทก์ขอลดจำนวนลงนั้นจำเลยไม่ลดให้ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือน และเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยเฉพาะในส่วนที่โจทก์ใช้เป็นที่พักอาศัย และให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์จำนวน 11,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินค่าภาษีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนซึ่งเป็นตึกแถว 4 ชั้น 2 คูหา โจทก์ได้นำตึกแถวชั้นที่ 1 ให้บริษัทซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด เช่าประกอบการค้า และให้บริษัทโอ – บราเดอร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (2530) จำกัด ตั้งเป็นสำนักงานเพื่อประกอบธุรกิจรับทำบัญชีส่วนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 โจทก์ให้นางวิภาดา พิริยาสรณ์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ทำเป็นที่พักอาศัย ส่วนตึกแถวชั้นที่ 4 โจทก์ปิดว่างมิได้ทำประโยชน์ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 2.3 ของโจทก์ว่า โรงเรือนพิพาทของโจทก์ในส่วนที่โจทก์มิได้นำไปใช้ประโยชน์ โจทก์จะต้องเสียภาษีโรงเรือนในส่วนดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า โรงเรือนพิพาทของโจทก์เป็นตึกแถว 2 คูหา 4 ชั้น โจทก์นำตึกแถวชั้นที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าทำการค้า ส่วนชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 โจทก์ให้นางวิภาดากรรมการผู้จัดการโจทก์พักอาศัย ส่วนชั้นที่ 4 ปิดไม่ได้ทำประโยชน์ อาคารดังกล่าวจึงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้ชัดเจน ดังนั้น ค่ารายปีที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจึงสามารถคำนวณได้จากพื้นที่ของแต่ละส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์ได้ และส่วนใดจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น จะต้องพิจารณาเป็นส่วนๆ ไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า หากนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปหาประโยชน์แล้ว เจ้าของอาคารจะต้องเสียภาษีทั้งหมดไม่ว่าเจ้าของจะใช้เองหรือให้ผู้แทนเฝ้ารักษาก็ไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีตามมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สำหรับอาคารชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ที่โจทก์ให้นางวิภาดาเข้าพักอาศัยอยู่กับครอบครัวนั้นได้รับการยกเว้นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 10 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น โรงเรือนในส่วนที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องเป็นโรงเรือนในส่วนที่เจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบกิจการอุตสาหกรรม เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงต้องถือตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมา แต่ข้อเท็จจริงว่าโรงเรือนในส่วนนี้โจทก์อยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาหรือได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบกิจการอุตสาหกรรมหรือไม่ ศาลภาษีอากรกลางยังไม่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงส่วนนี้ไปเสียเลยทีเดียว คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีคู่ความโต้เถียงว่า ในอาคารชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 โจทก์ให้นางวิภาดากรรมการผู้จัดการโจทก์พักอาศัยอยู่ ไม่มีการเก็บสินค้าหรือประกอบกิจการอุตสาหกรรมในชั้นเหล่านี้ เห็นว่า โจทก์ในคดีนี้เป็นนิติบุคคลโจทก์จึงเป็นเจ้าของอาคาร การอยู่อาศัยของนางวิภาดาจึงไม่ใช่เป็นการที่เจ้าของอยู่เอง นางวิภาดาเป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้จากอุทธรณ์ของโจทก์เองว่า นางวิภาดาเข้าพักอาศัยในอาคารนี้พร้อมกับครอบครัว ดังนั้น การที่นางวิภาดาซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์อยู่ในอาคารนี้จึงเป็นการพักอาศัยมิใช่เป็นการอยู่โดยโจทก์ให้อยู่เฝ้ารักษา เพราะการอยู่เฝ้ารักษาตามความหมายแห่งมาตรา 10 ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จะต้องเป็นการอยู่เฝ้ารักษาจริงๆ ไม่ใช่เป็นการพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้อยู่เอง และการอยู่ของนางวิภาดาไม่ใช่การอยู่เฝ้ารักษาเช่นนี้ โจทก์จึงไม่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนในส่วนนี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share