คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานกระบวนพิจารณาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้แถลงรับและต่อสู้ตลอดจนยอมรับข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ได้ว่าผลเป็นอย่างไร ตนยอมรับตามนั้น โจทก์เพียงแต่แถลงไม่ค้าน ซึ่งหมายความเพียงว่าไม่ค้านการที่ศาลจะส่งเอกสารต่าง ๆไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์เท่านั้น โจทก์หาได้ยอมรับผลการตรวจพิสูจน์เป็นข้อแพ้ชนะตามที่จำเลยที่ 2 แถลงด้วยแต่อย่างใดไม่ รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า ไม่อาจจะลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้นั้น แสดงให้เห็นว่าผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวศาลไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ จึงต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 50,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี คิดทบต้นตามประเพณีธนาคาร ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปนั้น ให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 4041 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเพิ่มวงเงินเกินบัญชี2 ครั้ง ครั้งแรกเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ครั้งที่ 2 เพิ่มวงเงินจากเดิมเป็น 300,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยมีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันรวม 10 ครั้ง นับแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีเรื่อยมาในวันครบกำหนดระยะเวลา จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 387,204.13 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินเข้าฝากหรือเบิกเงินจากบัญชีอีกเลย และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามบริการสินเชื่อบัตรทองเป็นเงิน 55,875.56 บาทหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คที่จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาขายลดไว้กับโจทก์รวม 3 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับรวมเป็นเงิน126,140 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 597,836.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 571,476.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 512,441.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 487,204.13 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 134,064.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 126,140 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เข้าค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อยินยอมในฐานะผู้ค้ำประกันในหนังสือต่ออายุสัญญา ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันที่ลงไว้เป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยที่ 2 มิได้เข้าค้ำประกันการขายลดเช็คดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คพร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันใช้เงิน 126,140 บาท แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดเป็นเงิน 100,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คิดจากต้นเงินที่ตนต้องรับผิดแก่โจทก์นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเพียงในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคิดจากต้นเงิน 34,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.5 นับแต่วันที่28 เมษายน 2530 จากต้นเงิน 40,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมายจ.7 นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2530 และจากต้นเงิน 52,140 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยของจำเลยที่ 3 คิดถึงวันฟ้อง (22 มีนาคม2531) ต้องไม่เกิน 7,924.28 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้หนี้สินเชื่อบัตรทองจำนวน 55,875.56 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้หนี้เงินกู้เบิกเกินบัญชีแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 387,204.13 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (22 มีนาคม 2531) ต้องไม่เกิน 9,388.37 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่23 มกราคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะคดีกันหรือไม่ ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่าจำเลยที่ 2 แถลงยอมรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาขายลดเช็คตามเอกสารหมาย จ.11 จำนวน 100,000 บาท จริง ส่วนสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.38 จำนวนเงิน300,000 บาทนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อค้ำประกัน ไม่ติดใจสืบพยาน ของดสืบพยานจำเลยที่ 2 แต่ขอให้ส่งเอกสารหมาย จ.38 ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเปรียบเทียบกับลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.11 หรือเอกสารหมาย จ.45ถึง จ.50 ว่าเป็นลายมือชื่อบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่จำเลยที่ 2ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง แต่ถ้าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.38 ไม่ใช่ลายมือชื่อบุคคลคนเดียวกับผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.11 หรือ จ.45 ถึง จ.50 จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามจำนวนเงินในเอกสารหมาย จ.11 เท่านั้น โจทก์แถลงไม่ค้านดังนี้จะเห็นได้ว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวจำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้แถลงรับและต่อสู้ตลอดจนยอมรับข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลอย่างไร ตนยอมรับตามนั้นโจทก์เพียงแต่แถลงไม่ค้าน ซึ่งหมายความเพียงว่าไม่ค้านการที่ศาลจะส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์เท่านั้น โจทก์หาได้ยอมรับผลการตรวจพิสูจน์เป็นข้อแพ้ชนะแต่อย่างใดด้วยไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.38 หรือไม่นั้น ได้ความจากรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.38กับลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.45 ถึง จ.50 น่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน และเมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.11 แล้ว ไม่อาจจะลงความเห็นให้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.38เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงต้องรับฟังพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ต่อไป และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.38 ไว้จริงจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษายืน

Share