แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุชื่อสัญญาว่า “สัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย” เรียกโจทก์ว่าตัวการ เรียกจำเลยว่าตัวแทน ข้อความในสัญญาข้อหนึ่งใจความว่า “ตัวแทนสัญญาว่าจะจำหน่ายปุ๋ยให้แก่เกษตรกรในนามของตนเองในราคาและเงื่อนไข ดังนี้…” สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่างตาม ป.พ.พ. มาตรา 833 การชำระราคาปุ๋ยจึงต้องปรับตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีข้อสัญญากำหนดว่าตัวแทนค้าต่างจะต้องรับผิดในหนี้หรือราคาปุ๋ยต่อตัวการ ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้ค่าปุ๋ยจากผู้ซื้อคือเกษตรกรแล้วหรือไม่ จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยที่ค้างแก่โจทก์ มิใช่รับผิดเฉพาะกรณีที่ได้รับเงินค่าปุ๋ยมาแล้วเท่านั้น
เมื่อคดีฟังได้ว่า มีคนนำเอาสัญญาค้ำประกันของธนาคารไปจากการครอบครองของโจทก์ โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมแล้วเอาสัญญาค้ำประกันปลอมไว้แทนและจำเลยเอาสัญญาค้ำประกันฉบับแท้จริงไปมอบคืนแก่ธนาคาร กรณีจึงมิใช่เรื่องโจทก์เวนคืนหรือมอบหมายให้ผู้ใดเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งสิทธิแก่ธนาคารตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฎว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันได้ระงับลงแล้ว ธนาคารผู้ค้ำประกันจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น
สัญญาระบุว่า “ในกรณีตัวแทนผิดนัดไม่ส่งเงินค้างชำระภายในกำหนด ตัวแทนยินยอมให้ตัวการคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาท บวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเงินเสร็จสิ้น” นั้น การคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาท และเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีดังกล่าว ย่อมเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยของเบี้ยปรับ หรือค่าเสียหายซ้อนค่าเสียหาย ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
ดอกเบี้ยซึ่งตัวแทนต้องเสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 811 นั้นกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าเป็นอัตราร้อยละเท่าใด ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้เพียงในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ไม่ถึงร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อสัญญากำหนดให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งศาลชอบที่จะกำหนดให้โจทก์ใช้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี อันเป็นอัตราที่เหมาะสมได้