คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปซื้อผักกาดขาวมาใช้ซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของกลาง และพาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปส่งที่ศาลาพักผู้โดยสาร อันเป็นการใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม), 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษประหารชีวิต และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน เมื่อรวมโทษของจำเลยที่ 2 ทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนและของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คืนรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน พ – 4531 ลำพูน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และเงินสด 24,000 บาท แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 6 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งหกได้ พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 26,000 เม็ด รถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน พ – 4531 ลำพูน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า หมายเลข 0 1473 3029 และยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 0 1951 9683 รวม 2 เครื่อง เงินสด 24,000 บาท ถุงปุ๋ย อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นของกลาง สำหรับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบทรัพย์ของกลางว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะที่จำเลยที่ 3 ใช้ไปซื้อผักกาดขาวมาซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนและพาจำเลยที่ 5 ซึ่งซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ที่ตัว กับจำเลยที่ 6 ซึ่งถือถุงปุ๋ยที่บรรจุผักกาดขาวดังกล่าวไปส่งที่ศาลาพักผู้โดยสาร อันเป็นการใช้รถยนต์กระบะของกลางโดยตรงในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามฟ้อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง ก็ยึดได้จากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทันทีหลังจากพบการกระทำความผิดและยังพบกระดาษจดหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 3 จากจำเลยที่ 5 จึงเชื่อได้ว่าเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อนัดหมายกระทำความผิดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และเงินสด 24,000 บาท ก็ยึดได้จากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทันทีหลังจากยึดได้เมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้บางส่วนให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าจัดหาเมทแอมเฟตามีนของกลาง อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่า จำเลยที่ 3 ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะไปซื้อผักกาดขาวมาใช้ซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของกลาง และพาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปส่งที่ศาลาพักผู้โดยสาร อันเป็นการใช้รถยนต์กระบะของกลางในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรง อันจะพึงริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ริบรถยนต์กระบะของกลาง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสด 24,000 บาท นั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางทั้ง 2 เครื่อง ดังกล่าว หรือเงินสดนั้น จำเลยที่ 3 ได้มาอย่างไร ดังนั้น โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่องกับเงินสด 24,000 บาท ของกลาง ย่อมมิใช่ทรัพย์สิน ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ใช้ หรือจำเลยที่ 3 ได้มาโดยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจริบทรัพย์สินของกลางตามที่โจทก์ฎีกาและเห็นควรคืนให้แก่เจ้าของ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเพียงบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน พ – 4531 ลำพูน ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share