แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยโดยให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อในสำนวนปรากฏว่าจำเลยถูกขังตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่าศาลได้ออกหมายปล่อยจำเลย เมื่อศาลพิพากษาจำคุกในคดีอีกเรื่องหนึ่งนั้นการคิดหักวันต้องคุมขังสำหรับคดีนี้จึงต้องคิดหักให้จนถึงวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ ไม่ใช่หักให้แค่วันที่ศาลพิพากษาจำคุกในคดีอีกเรื่องหนึ่งนั้น
ศาลล่างพิพากษาให้หักวันต้องคุมขังให้จำเลยขาดไปศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องได้ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาเพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ย่อยาว
เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปีให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 67/2508 ของศาลอาญา คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหักวันต้องขังก่อนศาลพิพากษาให้ ศาลชั้นต้นสั่งให้หักวันต้องขังให้ 1 ปี 9 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้หักให้ 2 ปี 5 เดือน 29 วัน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามฎีกาโจทก์กล่าวยืนยันมาว่าจำเลยที่ 1 ถูกควบคุมและถูกขังตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2508 ตลอดมา และในสำนวนไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ปล่อยตัวจำเลย จำเลยที่ 1จึงถูกขังตลอดมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2510รวมเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 1 วัน
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1351/2506 ของศาลอาญา ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2510 วันควบคุมระหว่างพิจารณาของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงต้องสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2510 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกขังตามหมายของศาลในคดีนี้ตลอดมาจนศาลชั้นต้นพิพากษา จึงต้องหักวันต้องคุมขังทั้งหมดให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วันต้องคุมขังที่ศาลอุทธรณ์หักให้ยังน้อยกว่าวันที่ต้องคุมขังจริงอีกถึง 2 วัน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาแต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงให้หักวันต้องขังให้ถูกต้อง คือ 2 ปี 6 เดือน 1 วัน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้หักวันต้องคุมขังให้แก่นายสุรินทร์จำเลย 2 ปี 6 เดือน 1 วัน