คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(ก) ในกรณีที่ข้าราชการทำผิดฐานละเมิดและต้องใช้ค่าเสียหาย นั้นจะถือว่ากรมหรือกระทรวงเจ้าสังกัดรู้การละเมิดและตัวผู้รับผิดตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นในกรมหรือกระทรวงเสนอความเห็นหาได้ไม่ ต้องนับตั้งแต่วันที่กรมหรือกระทรวงพิจารณาเรื่องราวและความเห็นนั้นแล้ว
(ข) เมื่อทรัพย์ที่ถูกยักยอกอยู่ในอำนาจของกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลมีอำนาจของกรมซึ่งเป็นนิติบุคคลมีอำนาจฟ้องคดีได้ และกรมที่ว่านี้รู้การละเมิดและตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนวันใด ต้องเริ่มนับอายุความในวันนั้น เมื่อกรมนี้ไม่ฟ้องคดีละเมิดภายใน 1 ปี ก็ขาดอายุความและเมื่อกรมนี้อยู่ในสังกัดกระทรวงใด กระทรวงนั้นมาฟ้องคดีนี้ภายหลังครบ 1 ปี นับแต่กรมรู้เรื่องดังกล่าว ก็ต้องถือว่าขาดอายุความด้วย
(ค) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าร่วมละเมิดกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา เมื่อปรากฏว่าคดีขาดอายุความ ศาลฎีกาอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1), 247 มีอำนาจวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
(ข้อ (ข) นี้วินิจฉัยโดยประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2505)

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ ศาลชั้นต้น พิจารณารวมกัน
สำนวนแรก ฟ้องว่า เมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๔๙๑ ถึง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ จำเลยเป็นนายอำเภอเมืองแพร่จงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน เป็นเหตุให้นายภุมมา คิดฉลาด สมุหบัญชี อำเภอเมืองแพร่ยักยอกเงินค่าแสตมป์อากร เงินช่วยบำรุงมท้องที่และเงินค่าภาษีเงินได้รวมหลายพันบาท
ต่อมาวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๗ โจทก์ทราบการละเมิดและเพิ่งทราบว่าจำเลยทำละเมิด จึงขอให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยต่อสู้และว่าคดีขาดอายุความฟ้องเคลือบคลุม
สำนวนที่ ๒ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายอำเภอเมืองแพร่ จำเลยที่ ๒ เป็นปลัดอำเภอจำเลยทั้งสองได้ฝ่าฝืนต่อระเบียบและคำสั่งข้อบังคับเกี่ยวกับการเก็บรักษาเงินของอำเภอ ไม่ควบคุมดูแลสมุหให้ปฏิบัติให้ถูกต้องระเบียบ เป็นเหตุให้นายภุมมาคิดฉลาด ยักยอกเงินภาษีเงินได้ไปหลายหมื่นบาทต่อมาวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๗ โจทก์ทราบการละเมิด และทราบว่าจำเลยทั้งสอง ร่วมกระทำละเมิด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ และว่าคดีขาดอายุความฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ ว่าไม่ต้องรับผิด ฟ้องขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน พิพากษายกฟ้อง อ้างว่าฟ้องไม่เคลือบคลุม แต่ขาดอายุความแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์รู้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินตั้งแต่ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๗ เป็นอย่างช้า มาฟ้องคดีเกิน ๑ ปีแล้ว คดีขาดอายุความให้ยกฟ้องทั้งสองสำนวนโดยไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้วินิจฉัยประเด็นอื่นด้วยแล้วพิพากษาใหม่
นายพิมพ์ฎีกาทั้ง ๒ สำนวน ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือเอาวันที่เจ้าหน้าที่ในกรมสรรพกรหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดใช้เงินรายพิพาทไม่ได้ เพราะอธิบดีและรัฐมนตรีดังกล่าวยังมิได้พิจารณาเรื่องราวและความเห็นที่เจ้าหน้าที่เสนอขึ้นไป และเมื่ออธิบดีหรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการในนามของกรมหรือกระทรวงนั้นยังไม่ทราบ ก็ถือว่ากรมหรือกระทรวงทราบยังมิได้
คดีนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าอธิบดีและรัฐมนตรีดังกล่าวรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดก่อนวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีกรมสรรพากร เสนอบันทึกเรื่องรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดใช้เงินต่อกระทรวงการคลัง จึงต้องถือว่าอธิบดีกรมสรรพยากรทราบวันนั้น และวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๙๗ ซึ่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาและสั่งการในเรื่องนี้เป็นวันที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดชอบในวันนั้น
จำเลยฎีกาว่า จะต้องนับตั้งแต่วันที่อธิบดีกรมสรรพากรรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดด้วย เพราะสรรพากรเป็นนิติบุคคลมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว ได้ความว่า ทรัพย์ที่ถูกยักยอกไปเป็นทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ ฉะนั้น ถ้ารู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเกิน ๑ ปี แล้วไม่ฟ้องร้องคดีก็ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
กรมสรรพากรเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการคลัง เมื่อกระทรวงการคลังมาฟ้องภายหลังครบ ๑ ปี นับแต่กรมสรรพากรรู้ดังกล่าว ก็ต้องถือว่า ฟ้องขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ได้วินิจฉัยแล้วว่าวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ กรมสรรพากรได้รู้การละเมิดและตัวผู้ต้องรับผิด คดีจึงเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ โจทก ์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ยังไม่ถึง ๑ ปี ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนสำนวนที่ ๒ ฟ้องเมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เกิน ๑ ปี ฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความ ส่วนนายเสริม กันกา จำเลยที่ ๒ แม้จะมิได้ฎีกาแต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ ๑ ฉะนั้น อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ (๑) , ๒๔๗ ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยตลอดถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฯลฯ

Share