คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินเป็นมรดกของผู้ตาย จำเลยให้การว่าเป็นของจำเลยแต่ลงชื่อผู้ตายไว้ในฐานะนิติกรรมอำพรางและปรากฏตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำให้การว่าจำเลยออกเงินซื้อในชั้นนำสืบจำเลยสืบว่าที่ทำเช่นนี้เพื่อปกปิดสามีดังนี้ไม่เป็นการสืบนอกประเด็น
โจทก์ฟ้องว่าทรัพย์บางอย่างเป็นมรดกของผู้ตาย จำเลยให้การว่าทรัพย์เช่นว่านั้นไม่มีอยู่ที่จำเลย แต่ชั้นนำสืบจำเลยนำสืบว่าทรัพย์เหล่านี้ผู้ตายยกให้บุตรจำเลย เช่นนี้ฟังไม่ได้เพราะเป็นการปิดบังเอาเปรียบโจทก์ในเชิงคดีทั้งๆ ที่จำเลยรู้ดีแล้วว่าทรัพย์อยู่ที่ไหน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า น.ส.กิมลี้ตายแล้วโดยไม่มีพินัยกรรม มีทรัพย์มรดกหลายอย่างตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวม 120,417 บาท จำเลยทั้งสองสมคบกันยึดถือทรัพย์สินของผู้ตายไว้ในครอบครองเพื่อตน ไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ ต่อมาได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2990 และที่ 3028 ของผู้ตายเอาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแต่ผู้เดียวขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ 1 ใน 4 ส่วนคิดเป็นเงิน 30,104 บาท 25 สตางค์

จำเลยทั้งสองรับว่าผู้ตายเป็นพี่สาวโจทก์และจำเลยมีทรัพย์มรดกหลายอย่างจริง แต่ทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำให้การของจำเลยไม่ใช่ของผู้ตาย เป็นของจำเลยที่ 1 และเป็นของผู้มีชื่อในบัญชีนั้นและไม่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ผู้ตายมีเจ้าหนี้รวมเป็นเงิน 19,258 บาท จำเลยที่ 1 รับธุระจัดการศพ ประมาณเป็นเงิน 15,000 บาท เงินสองจำนวนจำเลยต้องหักออกจากกองมรดกก่อนแบ่ง จำเลยขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2990 และ 3028 จริงเพราะเป็นของจำเลยที่ 1 มาแต่เดิมซึ่งได้ลงชื่อผู้ตายไว้ในฐานะนิติกรรมอำพราง แต่โดยที่ผู้ตายได้ตายไปแล้ว การเอาที่ดิน 2 แปลงนี้คืนจึงต้องจัดการไปในวิธีการรับมรดก ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1 ถึง 41 (เว้นแต่ฉางข้าวเรือน และครัวอย่างละ 1 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินท้ายฟ้องอันดับ 5 ฉางเป็นของจำเลยที่ 1 เรือนและครัวเป็นของนางทองสุข) เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายทรัพย์อันดับที่ 41 ที่กลายเป็นเงินสด 18,000 บาทเป็นมรดก ทรัพย์มรดกฟังได้ว่าอยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองนำทรัพย์มรดกดังกล่าวมาประมูลขายระหว่างกันเองกับโจทก์ก่อน ถ้าไม่ตกลงให้ขายทอดตลาด ฯลฯ

ทรัพย์อันดับ 42 ถึง 44 ยังไม่ปรากฏว่าผู้จำนำได้ไถ่ถอนหรือทรัพย์จำนำหลุดเป็นสิทธิแล้ว จะเอามาแบ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้แต่ให้โจทก์มีส่วนได้ในทรัพย์ดังกล่าวแล้ว 1 ใน 4 ส่วน

ข้อที่จำเลยขอหักเป็นค่าปลงศพนั้น จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดกและค่าจะปลงศพยังไม่แน่นอนและหนี้สินก็ไม่มีหลักฐานจำเลยควรฟ้องแย้งเข้ามาให้ผู้รับมรดกรับผิดชอบตามส่วนและผู้รับมรดกอาจมีข้อต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิด

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่ว่าที่ดินอันดับที่ 1 และ 2 โฉนดที่ 2990 และ 3028 เป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกให้หักเงินค่ารักษาผู้ตาย 80 บาท กับค่าปลงศพ 3,000 บาท จากกองมรดกก่อนแบ่งให้โจทก์

โจทก์ฎีกาเฉพาะที่ดินอันดับที่ 1, 2 ว่าเป็นมรดกผู้ตาย

จำเลยฎีกาว่าทรัพย์หมายเลข 7, 8, 9 และ 11 ไม่มีที่จำเลยและทรัพย์หมายเลข 10 ผู้ตายยกให้จำเลยแล้ว กับเงิน 13,000 บาทซึ่งจำเลยชำระแก่เจ้าหนี้ผู้ตายแทนกองมรดก ขอให้หักให้จำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องที่ดินโฉนดที่ 2990 และ 3028 นั้นจำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นของจำเลย แต่ลงชื่อผู้ตายไว้ในฐานะนิติกรรมอำพราง และปรากฏตามบัญชีท้ายคำให้การว่าจำเลยเป็นผู้ออกเงินซื้อ ในชั้นนำสืบจำเลยสืบพยานว่าที่ทำเช่นนี้เพื่อปกปิดสามีและมีคำนางทองสุขผู้เป็นทายาทเบิกความรับรองมีเหตุพอเชื่อได้ และการสืบของจำเลยเช่นนี้ก็เป็นการสืบตามประเด็นที่ให้การต่อสู้ไว้มิใช่สืบนอกประเด็น และการที่จำเลยขอประกาศรับมรดกผู้ตายก็เป็นวิธีการที่จะให้ได้โฉนดมาในนามของจำเลย

ส่วนฎีกาของจำเลยเกี่ยวทรัพย์หมายเลข 7, 8, 9 และ 11 นั้นจำเลยให้การว่าไม่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ในชั้นนำสืบจำเลยสืบว่าทรัพย์เหล่านี้ผู้ตายยกให้บุตรจำเลยที่ 1 เห็นว่าการที่จำเลยให้การและสืบพยานเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นการปิดบังเอาเปรียบในเชิงคดีทั้ง ๆ ที่รู้ดีแล้วว่าทรัพย์อยู่ที่ไหน แสดงข้อพิรุธในความสุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้เป็นมรดกนั้นไม่มีเหตุจะแก้ไข

ทรัพย์หมายเลข 10 ฟังว่าเป็นของผู้ตาย

ส่วนเงิน 13,000 บาท กองมรดกไม่ควรต้องรับผิด

พิพากษายืน

Share