แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้จะซื้อที่ดินซึ่งได้ชำระราคาที่ดินให้แก่ผู้ขาย และผู้ขายมอบที่ดินให้ครอบครองแล้ว พร้อมกับทำใบมอบอำนาจให้ผู้ซื้อไว้เพื่อจัดการขอโอนทะเบียนเอาเอง จนผู้ซื้อได้ติดต่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้ว แต่เจ้าพนักงานทำให้ไม่ทันจึงขอเลื่อนไปวันหลัง ดังนี้ เรียกได้ว่าผู้จะซื้ออยู่ในฐานะที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนตามมาตรา 1300 แล้ว
ผู้ได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ไว้ จะอ้างความคุ้มครองมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา 1300 ตอนท้ายจะต้องนำสืบว่า ตนได้รับโอนทะเบียนมาโดยค่าตอบแทนและโดยสุจริต
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 นายเอ็ง จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเฉพาะส่วนของนายเอ็งอันมีอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโฉนดเลขที่ 7287 ตำบลตลาดจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 11,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้นายเอ็ง จำเลยรับไปในวันนั้น แต่การโอนยังทำไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 กำลังขอแบ่งแยกระหว่างเจ้าของเดิมอยู่ จำเลยที่ 1 ได้ทำใบมอบฉันทะให้โจทก์ไว้จัดการเอาเองและได้มอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองด้วย โจทก์ได้ครอบครองอยู่จนบัดนี้ ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ราว 2 เดือน จำเลยที่ 2 น้องเมียจำเลยที่ 1 ได้มาขอซื้อที่แปลงนี้คืน แต่โจทก์ไม่ขายคืนให้ แล้วจำเลยที่ 1 กลับโอนขายที่ดินรายนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2496 เป็นราคา 20,000 บาท แต่มิใช่การซื้อขายกันจริงจัง เพราะไม่ได้ชำระเงินและจำเลยที่ 2 ก็ทราบถึงการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายเอ็งและทราบถึงการที่โจทก์ครอบครองที่ดินอยู่ด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาทำลายนิติกรรมซื้อขายที่ดินรายนี้ระหว่างนายเอ็ง นางเฮียง จำเลยเสีย แล้วบังคับให้นายเอ็ง จำเลย โอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ ถ้าโอนให้ไม่ได้ก็ให้หาที่ดินที่ใกล้เคียงแทน หรือมิฉะนั้นก็ให้ใช้ค่าที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนนางเฮียง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยไม่เคยทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทนี้มาก่อนเลย สัญญาและใบรับเงินที่โจทก์อ้างจะมีจริงหรือไม่ ไม่ทราบ การที่โจทก์ครอบครองที่พิพาทอยู่ก็ทำต่างดอกเบี้ยเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยขอไถ่ที่พิพาทจากโจทก์ จำเลยได้ทำการซื้อขายกันโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมได้ เมื่อมีการผิดสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ก็มีสิทธิแต่จะบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ 1 คืนมัดจำและใช้ดอกเบี้ยปรับได้เท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า นายเอ็ง จำเลย ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์จริง โจทก์ได้ชำระเงินให้นายเอ็งจำเลยไปแล้ว และนายเอ็ง จำเลย ได้มอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองนางเฮียงจำเลยก็ทราบถึงการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายเอ็งจำเลย การที่นางเฮียงยังขืนไปรับซื้อที่พิพาทจากนายเอ็ง จำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนการซื้อขายได้ก่อนเสียเปรียบ จึงพิพากษาให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้ง 2 เสีย และบังคับให้นายเอ็งจำเลย โอนขายที่พิพาทให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่จัดการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขออย่างอื่นไม่จำต้องสั่งบังคับ ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 800 บาท แทนโจทก์
นางเฮียงจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางเฮียงจำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เดิมนายเอ็ง จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 7287 ตำบลตลาดจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมร่วมอยู่กับผู้อื่นอีกหลายคน ต่อมาผู้มีชื่อเหล่านี้ ได้ร้องขอแบ่งแยกโฉนดเพื่อให้เป็นส่วนของตนแต่ละคน เฉพาะส่วนของนายเอ็งจำเลย มีเนื้อที่ 20 ไร่ และได้แยกโฉนดเป็นโฉนดเลขที่ 11833
ระหว่างที่ทำการแบ่งแยกยังมิได้รับโฉนดใหม่นั้น นายเอ็งจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่เฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 11,000 บาทโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2493โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้นายเอ็ง จำเลย รับไปในวันและนายเอ็ง จำเลยได้ทำใบมอบฉันทะให้โจทก์ไว้เพื่อให้โจทก์ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์เอาเองในเมื่อได้รับโฉนดใหม่ ทั้งนายเอ็งจำเลย ได้นำโจทก์ไปชี้เขตที่ดินเพื่อมอบให้โจทก์เข้าครอบครองด้วยในวันไปชี้เขตกันนั้น โจทก์ขอร้องให้ผู้ใหญ่คัดผู้ปกครองหมู่บ้านโจทก์จำเลยไปรับรู้ผู้ใหญ่คัดได้เรียกนายแถบ พ่อตา นายเอ็ง จำเลยและนางเฮียง จำเลยซึ่งเป็นน้องภรรยานายเอ็ง จำเลย ไปดูด้วยเมื่อชี้เขตมอบหมายกันแล้วโจทก์ก็เข้าครอบครองทำกินในที่นั้นจนถึงเวลาฟ้องร้องกันนี้ ก่อนเกิดฟ้องกันเล็กน้อย นายแถบ พ่อตาจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ได้ให้ผู้ใหญ่คัดมาพูดกับโจทก์ว่า จะขอซื้อที่แปลงนี้คืนในราคาที่โจทก์รับซื้อไว้ โจทก์ไม่ยอมเพราะที่ดินมีราคาสูงขึ้น และโจทก์ต้องการเอาไว้ทำกิน ต่อมาในเดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ พ.ศ. 2497 โจทก์ได้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอให้โอนโฉนดให้โจทก์ เจ้าหน้าที่ว่าวันนั้นทำให้ไม่ทันและนัดให้ไปวันแรม 10 ค่ำเดือนเดียวกัน ครั้นถึงกำหนดนัดโจทก์ไปหาเจ้าพนักงานอีกก็ปรากฏว่า นางเฮียงจำเลยได้รับโอนซื้อที่แปลงนี้ไปเสียแล้วตั้งแต่วันแรม 7 ค่ำ ในราคา 20,000 บาท โดยนายเอ็งจำเลยทำใบมอบฉันทะให้นางเฮียงจำเลยมาจัดการรับโอนเอาเอง
ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแล้วนี้ โจทก์มีพยานมั่นคงประกอบกับเอกสารสัญญาจะซื้อขายซึ่งฝ่ายจำเลยหามีพยานสืบหักล้างไม่ศาลฎีกาพิเคราะห์คำพยานโจทก์ในข้อนี้แล้วเชื่อว่า นายเอ็ง จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์จริง แม้ว่าใบมอบฉันทะจะลงวัน เดือน ปี ผิดแผกไปดังจำเลยฎีกาอันทำให้ฉงนบ้าง แต่ก็ไม่มีการซักถามกันให้ปรากฏว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ฉะนั้น เหตุเพียงเท่านี้จึงไม่ทำให้คำพยานหลักฐานโจทก์เสียไป เมื่อนายเอ็ง จำเลย ได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ ๆ ชำระค่าที่ดินให้นายเอ็ง จำเลยไปเสร็จสิ้นแล้ว นายเอ็งจำเลย ได้มอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองและทำใบมอบอำนาจไว้ให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปจัดการขอโอนทะเบียนหลังโฉนดเอาเอง ซึ่งโจทก์ก็ได้เคยไปขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แล้วแต่หากเจ้าพนักงานทำให้ไม่ทันจึงขอเลื่อนไปวันหลังเช่นนี้ เรียกได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะพร้อมที่จะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้แล้ว การที่นางเฮียง จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเสีย จึงเป็นทางให้โจทก์ผู้มีสิทธิที่จะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนนั้นเสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยได้ทำนิติกรรมซื้อขายต่อเจ้าพนักงานโดยเสียเงินค่าตอบแทนและโดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิจะขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมระหว่างจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หากจำเลยที่ 2 จะอ้างความคุ้มครองมิให้โจทก์เพิกถอนทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 ตอนท้ายจำเลยที่ 2 ก็จะต้องนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนทะเบียนมาโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต แต่พยานจำเลยที่นำสืบในเรื่อง นางเฮียง จำเลย ชำระราคาที่ดินให้นายเอ็งจำเลยมีพิรุธอยู่ และโดยเฉพาะในเรื่องความสุจริตแล้วเชื่อฟังไม่ได้เลยเพราะข้อเท็จจริงได้ความว่า นางเฮียง จำเลย เป็นน้องภรรยานายเอ็ง จำเลย เมื่อนายเอ็งจำเลย ไปชี้เขตที่ดินให้โจทก์นั้นนางเฮียง จำเลย ก็ไปรู้เห็นด้วย ในวันนั้นผู้ใหญ่คัดได้ถามนายเอ็งจำเลย ๆ ได้บอกว่าขายที่พิพาทให้โจทก์แล้ว ซึ่งนางเฮียง จำเลยก็คงได้ยินเพราะอยู่ในที่นั้นด้วย ต่อมานายแถบบิดานางเฮียง จำเลยซึ่งอยู่เรือนเดียวกับ นางเฮียง จำเลย ยังได้ขอให้ผู้ใหญ่คัดมาพูดซื้อที่แปลงนี้คืนจากโจทก์ ๆ ไม่ยอมขาย แล้วนางเฮียงจำเลยจึงได้ไปขอโอนทะเบียนเป็นของตน โดยอ้างว่าซื้อจากนายเฮ็งจำเลย เช่นนี้ รูปคดีไม่มีทางจะเชื่อได้เลยว่า นางเฮียงและนายเฮ็งจำเลยได้ทำการซื้อขายโอนทะเบียนต่อกันด้วยความสุจริต ฉะนั้นนางเฮียงจำเลยจะร้องขอความคุ้มครองจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 ตอนท้ายไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลย และบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์นั้นเป็นการชอบแล้ว ฎีกานางเฮียง จำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกานางเฮียง จำเลย และให้นางเฮียงจำเลยเสียค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์อีก 200 บาท