คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการคดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 58(3) ที่ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนั้นหมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7(1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวแล้วก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ดังนั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโฟร์เอส สตูดิโอ จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 และบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น 1992 จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์งานผู้เสียหายที่ 1และที่ 2 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเป็นผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุ มีลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงในรูปแบบของสิ่งบันทึกเสียงประเภทเทปคาสเซต คอมแพกดิสก์ (ซีดี) แผ่นเสียง และในรูปแบบของโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนต์ประเภท วิดีโอเทปคาราโอเกะและหรือบันทึกการแสดง เลเซอร์ดิสก์ วิดีโอซีดี ดีวีดี รวมทั้งงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ (ปกเทป) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 เวลา 18.35 นาฬิกาจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรมของผู้เสียหายทั้งสอง โดยจำเลยมีไว้เพื่อขายและเสนอขายซึ่งซีดีเพลงที่มีผู้ทำขึ้นโดยบันทึกเสียงเพลงที่มีทำนองคำร้องของเพลงอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองจำนวน 50 แผ่น อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นซีดีดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง เหตุเกิดที่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยและยึดแผ่นซีดีเพลง 50 แผ่นซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสอง และจำเลยนำออกเสนอขายดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 15, 31, 70, 75, 76ให้แผ่นซีดีเพลงของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 31, 70 วรรคสอง ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าจำคุก 3 เดือน และปรับ 63,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วันและปรับ 31,500 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งให้เจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดและถูกฟ้องคดีนี้จำเลยเป็นเยาวชนอายุ 17 ปีแต่ท้องที่ที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่ตามปกติ ท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดและท้องที่ที่จำเลยถูกจับกุมอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรีซึ่งไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58(3) ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดลพบุรีนั้นปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยมีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่ปกติที่จังหวัดลพบุรีและกระทำความผิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีซึ่งยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดดำเนินการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58(3) ส่วนปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรีหรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้นเห็นว่า บทกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 58(3) ที่ว่า ในกรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนั้นหมายถึง กรณีคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดที่ไม่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเรื่องอำนาจศาลไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ อันเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซึ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 7(1) บัญญัติไว้เป็นพิเศษ ให้คดีลักษณะนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เว้นแต่จะเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวเมื่อคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนกรณีที่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น แต่ให้บรรดาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวจะยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ ซึ่งหมายความว่าหากมีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคโดยระบุเขตศาลและที่ตั้งศาลขึ้นตามมาตรา 6 แล้ว คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคที่จัดตั้งขึ้นแล้วนั้น สามารถยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะรับหรือไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ ซึ่งเมื่อคดีนี้เหตุเกิดในท้องที่จังหวัดลพบุรีและยังไม่มีการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคใดขึ้นเลย จึงยังใช้บทบัญญัติในการยื่นฟ้องคดีตามมาตรา 5 วรรคสองดังกล่าวแล้วไม่ได้ก็ตาม แต่ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติเป็นบทเฉพาะกาลไว้ว่า ในระหว่างที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย และในคดีอาญาโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นก็ได้ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนี้ไว้แล้วจะนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือ ณศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร ดังนั้น เมื่อคดีนี้ความผิดเกิดขึ้นในจังหวัดลพบุรี โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรีและศาลดังกล่าวแจ้งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคดีนี้ไว้และพิจารณาพิพากษา จึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 47 ดังกล่าวด้วย คดีนี้จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดลพบุรีดังเช่นที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share