แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าของที่ดินได้มายื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อทางอำเภอยกที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจ้าของที่ดินประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หาใช่เป็นกรณีเจตนาสละการครอบครองไม่ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 และประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ.2497 มาตรา 4ทวิ เมื่อการให้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เนื่องจากเจ้าของที่ดินถึงแก่กรรมเสียก่อนนิติกรรมการให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายที่ดินดังกล่าวจึงยังเป็นมรดกของเจ้าของที่ดินอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิขอแบ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายด้วย โจทก์ขอแบ่งจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสของผู้ตาย จำเลยไม่ยอมแบ่ง จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่าทรัพย์อันดับ 4-7 ผู้ตายได้ทำหนังสือจดทะเบียนยกให้แก่จำเลยก่อนตายแล้ว ส่วนทรัพย์อันดับ 1 ถึง 3 ผู้ตายก็ได้ทำหนังสือยกให้แก่จำเลยแล้วเช่นกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายทันและนายวันขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1 – 3 ให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากการโอนที่ดินตกลงกันไม่ได้ก็ให้ประมูลระหว่างคู่ความ หรือมิฉะนั้นก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมเฉพาะที่เกี่ยวกับที่พิพาทตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1 – 3 ด้วย
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” และตามมาตรา 4 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497ก็บัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่พิพาทอันดับ1 – 3 เป็นที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์และการที่นางจันทร์เจ้าของที่ดินได้มายื่นเรื่องราวจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อทางอำเภอ ก็แสดงว่านางจันทร์ประสงค์จะยกให้แก่จำเลยโดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หาใช่เป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองไม่ จึงต้องบังคับตามกฎหมายดังกล่าวฉะนั้น เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมการให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว ที่พิพาทอันดับ 1 – 3 จึงยังเป็นมรดกของนางจันทร์อยู่ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิขอแบ่งได้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับที่พิพาทอันดับ 1 – 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์