แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นจะต้องบันทึกไว้ให้ชัดแจ้งว่ารับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 230 มิใช่เพียงแต่สั่งรับอุทธรณ์เท่านั้น มิฉะนั้นศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกอุทธรณ์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยไม่มีกำหนดเวลาเช่า โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยออก จำเลยไม่ยอมออกทำให้โจทก์เสียหาย หากให้คนอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ ๕๐๐ บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่เช่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากตึกที่เช่า
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ใช่ผู้เช่า ไม่เคยชำระค่าเช่าให้โจทก์ และไม่เคยได้รับคำบอกกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากห้องพิพาท
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของห้องพิพาท และจำเลยไม่ใช่ผู้เช่า ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินเดือนละ ๑๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ คำให้การของจำเลยมิใช่เป็นการกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ อันจะทำให้จำเลยมีสิทธิ์อุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย
วินิจฉัยว่า ข้อฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับขึ้นมาสรุปความได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ และสั่งส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ เท่ากับศาลชั้นต้นผู้พิจารณาคดีนี้ได้รับรองให้อุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีของจำเลยต้องห้ามอุทธรณ์ และไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นจะต้องบันทึกไว้ให้ชัดแจ้งว่ารับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๐ มิใช่เพียงแต่สั่งรับอุทธรณ์ดังคดีนี้ และในกรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกอุทธรณ์ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๒(๑)
พิพากษายืน.