คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 1 ส่งตัวจำเลยซึ่งประพฤติตนเป็นอันธพาลไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพแล้ว ต่อไปก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศดังกล่าวข้อ2 ที่จะต้องมีคำสั่งทุกๆ สามเดือนว่าจะคงให้ควบคุมจำเลยไว้หรือปล่อยตัวไป การที่ควบคุมตัวจำเลยไว้เมื่อพ้นสามเดือนแล้ว โดยที่คณะกรรมการไม่ได้มีคำสั่งจึงเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบตามประกาศดังกล่าว. จำเลยหลบหนีจึงไม่มีความผิด หาใช่ว่าเมื่อไม่มีคำสั่งก็ให้ถือว่าควบคุมได้ตลอดไปไม่ เพราะหากตีความเช่นนั้นแล้ว ระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้คณะกรรมการมีคำสั่งทุกๆสามเดือนก็จะไร้ความหมาย
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 16-17/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลบหนีไปจากการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งควบคุมจำเลยไว้ ณ สถานอบรมและฝึกอาชีพบุคคลอันธพาล ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด

จำเลยรับสารภาพ

ศาลแขวงสุรินทร์เห็นว่า จำเลยถูกควบคุมโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยหลบหนีก็ไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายต่อมาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 1 นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์มีอำนาจสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพได้ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าคณะกรรมการซึ่งได้ตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43ข้อ 2 จะได้พิจารณาและมีคำสั่ง ส่วนข้อที่ว่าบุคคลที่ถูกควบคุมนั้นบุคคลใดควรให้ควบคุมไว้หรือให้ปล่อยตัวไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 2 นั้น เป็นวิธีการภายในที่ให้อำนาจคณะกรรมการที่จะมีคำสั่ง 3 เดือนต่อครั้ง และสั่งตามที่เห็นสมควร ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการผู้มีอำนาจสั่งเห็นว่ายังไม่ควรสั่งหรือยังไม่มีคำสั่งย่อมถือได้ว่าเป็นการควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ตลอดไป จนกว่าคณะกรรมการจะได้มีคำสั่งปล่อย เมื่อจำเลยหลบหนีในระหว่างถูกควบคุม ก็ต้องมีผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงมีว่า หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 1ได้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพแล้ว ไม่มีคำสั่งของผู้ใดหรือคณะกรรมการใด ๆ เกี่ยวกับการควบคุมตัวจำเลยไว้ต่อไปอีกเลย จำเลยจึงถูกควบคุมอยู่จนถึงวันหลบหนีรวมเวลา8 เดือนเศษ จึงมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะจำเลยหลบหนี จำเลยได้ถูกควบคุมอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 1 นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์มีอำนาจสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพได้ เมื่อจำเลยเข้าไปอยู่ในสถานอบรมฯ แล้ว จึงตกเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43ข้อ 2 ที่จะพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุม การอบรม การฝึกอาชีพและการปล่อยบุคคลที่ถูกควบคุม สำหรับการควบคุมและปล่อยนี้วรรคสอง ของข้อ 2 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งทุก ๆ สามเดือนว่า บุคคลที่ถูกควบคุมนั้นบุคคลใดควรให้ควบคุมไว้หรือให้ปล่อยตัวไป ทั้งนี้ หมายความว่าคณะกรรมการจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งทุก ๆ สามเดือน หรืออีกนัยหนึ่งการควบคุมตัวบุคคลในสถานอบรมและฝึกอาชีพนี้มีระยะเวลาคราวละสามเดือน ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่ง การควบคุมก็ดี ปล่อยตัวก็ดี ย่อมจะกระทำได้ก็โดยคำสั่งของคณะกรรมการเท่านั้นฉะนั้น การที่ควบคุมตัวจำเลยไว้เมื่อพ้นสามเดือนแล้วโดยทีคณะกรรมการไม่ได้มีคำสั่งให้ควบคุมไว้ต่อไป จึงเป็นการควบคุมที่ไม่ชอบตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อคณะกรรมการยังไม่มีคำสั่งย่อมถือได้ว่าเป็นการควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ตลอดไปจนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งปล่อยตัวไปนั้นเป็นการคำนึงถึงแต่การปล่อยตัวอย่างเดียวว่า จะต้องมีคำสั่งของคณะกรรมการ แต่การควบคุมต่อไปนั้นหาต้องมีคำสั่งไม่ ซึ่งย่อมเป็นการขัดต่อถ้อยคำที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในข้อ 2 นั้นว่าการควบคุมตัวต่อไปก็ดีหรือการปล่อยตัวไปก็ดี จะต้องมีคำสั่งของคณะกรรมการทั้งสองกรณีไม่ใช่จะต้องมีคำสั่งเฉพาะการปล่อยตัวไปแต่กรณีเดียวเท่านั้นดังโจทก์ฎีกา และถ้าจะตีความว่า เมื่อไม่มีคำสั่งก็ถือว่าให้ควบคุมได้ตลอดไปแล้ว ระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้คณะกรรมการมีคำสั่งทุก ๆ สามเดือนก็ย่อมจะไร้ความหมาย

อนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ดูข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 43แล้ว จะแลเห็นความมุ่งหมายของประกาศได้ว่าไม่ประสงค์จะให้คุมขังบุคคลไว้ได้ตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถ้อยคำในข้อ 3 นี้กำหนดว่าผู้อยู่ในสถานอบรมและฝึกอาชีพนี้ให้ถือว่าเป็นผู้อยู่ในระหว่างคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งการคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนนั้น กฎหมายย่อมกำหนดระยะเวลาไว้เป็นระยะ ๆ พนักงานสอบสวนหามีอำนาจที่จะคุมขังบุคคลไว้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาไม่ ทำนองเดียวกัน ผู้ที่ถูกควบคุมในสถานอบรมและฝึกอาชีพนี้ ก็ย่อมจะถูกควบคุมอยู่เป็นระยะเวลาคราวละสามเดือนเมื่อครบสามเดือนแล้วจะคงให้ควบคุมต่อไปหรือจะให้ปล่อยตัวไป ก็ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะต้องพิจารณาสั่ง เมื่อคณะกรรมการมิได้สั่ง การควบคุมในตอนหลังนี้จึงไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 2 จำเลยหลบหนีการควบคุมไปในตอนหลังนี้จึงไม่มีความผิด

พิพากษายืน

Share