คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันเนื่องจากโจทก์ติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาได้โดยฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น ผู้เช่าซื้อจำต้องใช้เงินเป็นค่าเช่าหรือค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม แต่ไม่ต้องใช้ค่าเสียหายใด ๆ เป็นค่าขาดราคานอกจากค่าที่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น
โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้คงเรียกได้แต่ค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด แม้โจทก์จะได้ออกเงินทดรองชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,106,991.45 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของต้นเงิน 776,991.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 49,611.03 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 549,611.03 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 429,611.03 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 170,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันเนื่องจากโจทก์ติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาโดยฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถือว่าสัญญาเลิกกันเมื่อโจทก์ยึดรถมาได้ คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้ง คดีจึงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น ผู้เช่าซื้อจำต้องใช้เงินเป็นค่าเช่าหรือค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดด้วย และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์สำหรับงวดที่ 13 เป็นต้นมารวม 7 งวดนั้นชอบแล้ว โดยจำเลยที่ 4 ยอมรับในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองรถที่เช่าซื้อของโจทก์จริงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 โดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อ เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ไม่สนใจที่จะยึดรถคืนจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับจำนวนเงินค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 30,000 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์แล้วรวม 12 งวด กับค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือน รวมเป็นเงินประมาณ 1,400,000 บาทเศษ เทียบกับการที่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่แจ้งคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์รวมเป็นเวลาทั้งสิ้นประมาณ 19 เดือน นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ต่อไปว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาจำนวน 170,000 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย เมื่อสัญญาเลิกกันโจทก์จึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้อีกนอกจากค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อของโจทก์โดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อดังที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดค่าเสียหายส่วนนี้ต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ประเด็นนี้ฟังขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประเด็นสุดท้ายว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 49,611.03 บาท ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ เมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระแต่ละงวดเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 (2) มาตรา 82 และมาตรา 82/4 หมายความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ในแต่ละงวดตามสัญญา แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 12 งวด ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ประจำเดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นมา และโจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนถึงงวดที่ 19 ประจำเดือนมีนาคม 2541 รวม 7 งวด เป็นเงิน 49,611.03 บาท ต่อมาสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันเมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน (วันที่ 31 สิงหาคม 2541) คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้นโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด เมื่อไม่มีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดค่าเช่าซื้องวดที่ 13 เป็นต้นมา แม้โจทก์จะได้ออกเงินทดรองชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 4 ประเด็นนี้ฟังขึ้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้ในชั้นฎีกา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้ยื่นฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าใช้ทรัพย์เป็นเงิน 210,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share