แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่3อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้จำเลยที่1และที่2ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน1,165,484.92บาทพร้อมดอกเบี้ยแต่คำพิพากษาในส่วนนี้ไม่ได้บังคับจำเลยที่3ด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่3 จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนักวิชาการ4ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์ถือว่าจำเลยเป็นนักเรียนทุนประเภท1(ข)และตามข้อ6วรรคแรกของข้อบังคับของโจทก์ระบุว่า”ให้สถาบันทำสัญญาผูกมัดให้พนักงานที่ไปศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัยกลับมาปฏิบัติงานตามแผนงานหรือโครงการที่สถาบันกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเท่าของเวลาที่พนักงานผู้นั้นได้รับเงินเดือนระหว่างศึกษาฝึกอบรมหรือปฏิบัติการวิจัย”จำเลยได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรีย ตั้งแต่วันที่1ตุลาคม2532โดยมิได้ทำสัญญาผูกมัดกับโจทก์เพื่อกลับมาชดใช้ทุนระหว่างที่จำเลยได้รับทุนนั้นโจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนไปให้จำเลยลงชื่อที่ประเทศออสเตรียหลายครั้งแต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อกลับยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายน2533ดังนี้โจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนให้จำเลยลงชื่อหลายครั้งแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เพื่ออนุโลมให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่จำเลยกลับไม่ยอมลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนการกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์จำเลยไม่อาจอ้างเหตุที่มิได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนักวิชาการ 4 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 13สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 17พฤศจิกายน 2529 มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กลับมาทำงานชดใช้ทุนแต่ยังไม่ครบ 3 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อโดยกลับมาทำงานชดใช้ทุนเพียง 1,032 วันคงขาดอยู่อีก 318 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรียตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532ถึงวันที่ 30 กันยายน 2535 มีกำหนดระยะเวลา 3 ปีจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องทำสัญญาเพื่อกลับมาชดใช้ทุนให้แก่โจทก์มีระยะเวลา 3 เท่าของระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ทราบดีแล้ว แต่จำเลยที่ 1กลับไม่ยอมทำสัญญาทั้งที่โจทก์ส่งแบบสัญญาไปให้ถึงประเทศออสเตรียและเมื่อจำเลยที่ 1 ศึกษาสำเร็จขั้นปริญญาเอกแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่กลับมาทำงานชดใช้ทุนให้โจทก์เป็นเวลา 3 เท่าของระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุน การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 7 วัน โดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 297,669.80 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 203,633.02 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,703,703.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 1,165,484.92 บาทนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ และได้กลับมาทำงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วส่วนทุนการศึกษาขั้นปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีข้อสัญญากับโจทก์ว่าจะต้องกลับมาทำงานชดใช้ทุน และสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ไวก็เป็นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้รัฐบาลออสเตรียเป็นผู้จ่ายเงินทุนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทุนคืน ทั้งโจทก์ผ่อนเวลาการได้รับทุนขั้นปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษจากระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน เป็น 1 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงหลุดพ้นจากความรับผิด และโจทก์เรียกดอกเบี้ยตามฟ้องได้ไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ยส่วนที่เกินไปจากนั้นขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2528แล้วกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน2529 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2532 และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532จำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรียการปฏิบัติงานชดใช้ทุนดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.31 ข้อ 4(ก) ซึ่งระบุว่าจะต้องกลับมาปฏิบัติงานกับโจทก์ไม่น้อยกว่า 3 เท่าของระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุน สำหรับทุนขั้นปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรียนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาผูกมัดกับโจทก์เพื่อกลับมาชดใช้ทุน ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนนั้นโจทก์ได้ส่งสัญญาชดใช้ทุนตามเอกสารหมาย จ.35 ไปให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อหลายครั้งแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงชื่อ กลับยื่นใบลาออกนับแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.44 อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 6 ที่กำหนดให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาผูกมัดในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนเพื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุน ซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีเพราะเคยรับทุนไปศึกษาขั้นปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวน 203,633.02 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องย้อนหลังไปรวม 5 ปี และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 1,165,484.92บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องย้อนหลังไปรวม 5 ปี และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ ว่าด้วยการให้พนักงานไปศึกษา ฝึกอบรมดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 6 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้โจทก์ทำสัญญาผูกมัดกับจำเลยที่ 1 ดังนั้นเมื่อไม่มีสัญญาผูกมัดกันไว้ในกรณีจำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรีย แม้จำเลยที่ 1 จะทราบข้อบังคับดังกล่าวเป็นอย่างดี โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระคืน เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 1,165,484.92 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่คำพิพากษาในส่วนนี้ไม่ได้บังคับจำเลยที่ 3 ด้วย ดังนั้นอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 3ดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนักวิชาการ 4 รัฐบาลออสเตรียให้ทุนศึกษาอบรมแก่รัฐบาลไทยเพื่อเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าสมัครรบทุนดังกล่าวไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรียมีกำหนด 3 ปี ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์เอกสารหมาย จ.7 ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนทุนประเภท 1 (ข) และตามข้อ 6 วรรคแรกระว่าว่า “ให้สถาบันทำสัญญาผูกมัดให้พนักงานที่ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยกลับมาปฏิบัติงานตามแผนงานหรือโครงการที่สถาบันกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเท่าของเวลาที่พนักงานผู้นั้นได้รับเงินเดือนระหว่างศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย” ได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรียตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 โดยมิได้ทำสัญญาผูกมัดกับโจทก์เพื่อกลับมาชดใช้ทุน ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนนั้นโจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนไปให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อที่ประเทศออสเตรียหลายครั้งแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงชื่อ กลับยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือสัญญาชดใช้ทุนให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อหลายครั้งแล้วจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เพื่ออนุโลมให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ แต่จำเลยที่ 1 กลับไม่ยอมลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างเหตุที่มิได้ลงชื่อในหนังสือสัญญาชดใช้ทุนขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้กลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนแก่โจทก์ จึงให้จำเลยที่ 1 รบผิดชดใช้ทุนคืนแก่โจทก์ตามฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ให้ยก อุทธรณ์ ของ จำเลย ที่ 3