แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ จ. ได้ให้ผู้อื่นเช่าที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยจดทะเบียนการเช่าไว้มีกำหนด 30 ปี ดังนั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่มีภาระการเช่าให้แก่ จ. และกำหนดเงินค่าทดแทนในการเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากกัน แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างให้แก่ จ. เจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 19,668,979.98 บาท เพียงผู้เดียว ย่อมเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของตามมาตรา 18 (2) และผู้เช่าเฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากอาคารและที่ดินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับตามมาตรา 18 (3) แยกต่างหากจากกัน เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกันแล้วตามมาตรา 10 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นผลมาจากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวได้ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 อย่างไรก็ตามการที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เพื่อให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ใหม่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่อยู่ในวิสัยจะดำเนินการได้ เพราะอายุการใช้พระราชกฤษฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงควรให้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คู่ความนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนของอาคารพิพาทตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 15,754,488.67 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,411,764.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 11,411,764.97 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารออมสินในต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจำนวนเงินดอกเบี้ยคิดถึงจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,342,723.70 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 กำหนดบุคคลผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 18 อนุมาตรา (1) ถึง (6) แยกไว้ต่างหากจากกัน ทั้งนี้ เพราะการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพียงรายการเดียว อาจก่อให้เกิดผลกระทบกระทั่งต่อสิทธิของบุคคลหลายฝ่าย ซึ่งย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่บุคคลทุกฝ่ายที่ต้องเสียหายในอันที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแยกต่างหากจากกันได้ กล่าวโดยเฉพาะสำหรับการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้เช่าตามมาตรา 18 (3) นั้น กฎหมายกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ ดังนั้น ผลของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้เสียสิทธิการเช่าตามมาตรา 18 (3) ย่อมทำให้เงินค่าทดแทนที่จะกำหนดให้สำหรับเจ้าของโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 18 (2) ซึ่งให้เช่าต้องลดจำนวนลงด้วย ทั้งนี้ เพราะมูลค่าของโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ติดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า ย่อมมีภาระผูกพันจะต้องยอมให้ผู้เช่าได้ใช้สอยตามกำหนดเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญาเช่า โดยเหตุนี้ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ใดที่ถูกเวนคืนมีภาระการเช่าที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออยู่ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จะต้องกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของ ตามมาตรา 18 (2) ในสภาพของอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระการเช่าซึ่งย่อมจะต้องน้อยกว่าเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ปลอดจากภาระการเช่า และจะต้องกำหนดเงินค่าทดแทนการเช่าให้แก่ผู้เช่าตามมาตรา 18 (3) ในระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่แยกต่างหากจากกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ นางจำเนียรได้ให้ผู้อื่นเช่าที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยจดทะเบียนการเช่าไว้มีกำหนด 30 ปี ดังนั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างในสภาพที่มีภาระการเช่าให้แก่นางจำเนียรและกำหนดเงินค่าทดแทนในการเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากกัน แต่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางจำเนียรเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำนวน 19,668,979.98 บาทเพียงผู้เดียว ผู้เช่าที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างของนางจำเนียรได้คัดค้านการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 19,668,979.98 บาท ไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่โดยระบุชื่อนางจำเนียร เจ้าของ และผู้เช่าแต่ละรายเป็นเจ้าของบัญชีปรากฏว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์กับผู้เช่าจำนวน 10 ห้อง ตกลงกันได้ โจทก์ได้รับเงินบางส่วนจำนวน 8,257,215.01 บาท ไปแล้ว ส่วนเงินที่จำเลยยังคงค้างอีก 11,411,764.97 บาท นั้น จำเลยไม่สามารถจ่ายให้ได้เพราะโจทก์กับผู้เช่าอีก 15 ห้อง ยังตกลงกันไม่ได้เนื่องจากผู้เช่าอาคารของนางจำเนียรมีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี ขณะถูกเวนคืน สัญญาเช่ายังคงเหลืออีก 22 ปี ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้เป็นยุติดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าเงินค่าทดแทนจำนวน 19,668,979.98 บาท นั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดให้แต่เฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 18 (2) เท่านั้น หาได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้เช่าแต่ละรายที่ต้องเสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากอาคารและที่ดินที่เช่าตามมาตรา 18 (3) ไม่ ส่วนการที่จำเลยนำเงินค่าทดแทนจำนวน 19,668,979.98 บาท ไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โดยระบุชื่อนางจำเนียร เจ้าของและผู้เช่าแต่ละรายเป็นเจ้าของบัญชี เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตกลงกันเอง หากตกลงกันได้จำเลยก็ยอมจ่ายให้ เป็นทำนองว่าเงินค่าทดแทนจำนวน 19,668,979.98 บาท ดังกล่าวนั้น คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าของตามมาตรา 18 (2) และผู้เช่าแต่ละรายตามมาตรา 18 (3) ครบถ้วนแล้ว เป็นเรื่องที่โจทก์และผู้เช่าแต่ละรายจะต้องไปทำความตกลงแบ่งกันเอง ย่อมเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 18 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของตามมาตรา 18 (2) และผู้เช่าเฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากอาคารและที่ดินที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับตามมาตรา 18 (3) แยกต่างหากจากกันดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเช่นนี้ ย่อมส่งผลพลอยทำให้เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่โจทก์และผู้เช่าแต่ละรายที่มีสิทธิได้รับ เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น แม้โจทก์จำเลยจะได้ตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนกันแล้วตามมาตรา 10 ก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการตามมาตรา 10 ดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่บุคคลโดยไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 18 (2) และ (3) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวได้ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ใหม่ตามขั้นตอนของกฎหมายไม่อยู่ในวิสัยจะดำเนินการได้ เพราะอายุการใช้พระราชกฤษฎีกาฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงควรให้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้คู่ความนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนของอาคารพิพาทในแต่ละหลังตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่วินิจฉัยมาข้างต้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นกำหนดให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบว่า อาคารพิพาทที่มีภาระการเช่าในแต่ละหลังนั้น โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเท่าใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.