แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเป็นไม่รอการลงโทษนั้น เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือนปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุก 9 เดือน ปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า ศาลพิเคราะห์ตามคำร้องแล้วยังไม่มีเหตุเพียงพอที่สมควรจะรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้จึงไม่รับรองให้ และสั่งฎีกาว่า ไม่เห็นควรรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกจำเลยสถานเดียวไม่ปรับนั้น เป็นการพิพากษาที่แก้ไขมากและเป็นการเพิ่มโทษจำเลย จำเลยจึงสมควรที่จะฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ขอให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงและอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยเป็นไม่รอการลงโทษจำคุกนั้นเป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ให้รับฎีกาจำเลยไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป”