คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นับแต่วันสิ้นสุดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ธนาคารโจทก์ไม่ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินเข้าเพื่อหักทอนหนี้ของยอดเงินที่ค้างชำระแสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ถือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญา หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ เพราะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์สาขาชลบุรี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นเงิน 1,500,000 บาท โดย ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน หากไม่ชำระดอกเบี้ยก็ยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยค้างชำระหนี้เป็นต้นเงินเป็นคราว ๆ ไป ตามธรรมเนียมการคิดบัญชีของธนาคารพาณิชย์ กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่30 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้กับโจทก์จำเลยที่ 1 ก็ได้สะพัดทางบัญชี โดย มีเงินฝากเข้าบัญชีและออกเช็คสั่งจ่ายเบิกถอนเงินกับโอนเงินออกจากบัญชีเรื่อยมาปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไป โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้และแจ้งบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาพอสมควร แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยยอดหนี้ค้างชำระคิดเพียงสิ้นวันที่ 12 มกราคม 2530 เป็นเงิน2,958,343.83 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,958,343.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีคืนโจทก์ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 มิได้ต่ออายุสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เคยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์อีกและไม่เคยนำเงินเข้าชำระแต่อย่างใด แสดงแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญากับโจทก์ณ วันครบกำหนดตามสัญญานั้นเอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นอัตราในสัญญาเพียงถึงวันที่ 30 กันยายน 2527 เท่านั้นนับแต่เดือนกันยายน 2526 เป็นต้นมา โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่เกินกว่าข้อตกลงในสัญญาและเกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1ได้ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นต้นมาจึงตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์2,144,412.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 1,920,522.36 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน2527 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 02514-6 กับโจทก์ สาขาชลบุรี ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2526จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ในวงเงิน1,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี มีกำหนดชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 โดย ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนที่เบิกเกินบัญชีดังกล่าวเป็นรายเดือนและยอมให้โจทก์นำจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระในแต่ละเดือนรวมกันกับต้นเงินที่เบิกเกินบัญชี อันเป็นการคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงรายการของหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลศรีราชา อำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี เป็นประกันการชำระหนี้ และทำบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้นเงินจำนอง รวมเป็นเงินจำนองทั้งสิ้น 1,500,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.7 จ.8 และ จ.9 ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.10ปรากฏรายการเดินสะพัดของบัญชีจนถึงวันที่ 27 กันยายน 2527จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,920,522.36 บาท ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.15 มีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับถึงวันบอกเลิกสัญญาหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเห็นว่าตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์เอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.20 ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 30 กันยายน 2527 ทั้งไม่ปรากฏรายการนำเงินเข้าเพื่อหักทอนหนี้ของยอดเงินที่ค้างชำระของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์แสดงว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ถือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุในสัญญา ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2527หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป ที่โจทก์อ้างว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.6 จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดการชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 ก็ตาม แต่ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้ว สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันเลิกไปทันที ด้วยเหตุนี้เมื่อยังมิได้มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาและหักทอนบัญชีกันแล้วตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2517 เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงตามพฤติการณ์ในทางปฏิบัติของโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงจะนำมาปรับแก่ข้อเท็จจริงในคดีนี้มิได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดนี้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ถูกต้อง โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนี้หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นเพราะกรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว โจทก์หาจำต้องนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ประการใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยทบต้นแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน1,920,522.36 บาท นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2527 ถึงวันที่30 กันยายน 2527 และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2527 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share