แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ยื่นคำร้องขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ภายหลังได้มีประกาศของหัวหน้าคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้อยู่ขณะนั้น และให้สมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรเป็นอันสิ้นสุดลงทั่วราชอาณาจักร ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีบทบัญญัติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คดีจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับให้การเป็นไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งที่ร้องคัดค้านจะชอบหรือไม่ ต้องยกคำร้อง.
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้ง ๕ คนในฐานะผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคา ๒๕๐๑ ว่ามิได้เป็นไปโดยชอบธรรมตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๖๐ ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนบางคนได้ให้เงินและทรัพย์สินเป็นเครื่องล่อใจและจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนและงดเว้นมิลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน จึงขอให้สั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ใหม่
นายพร บุณยประสพ ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและในฐานะเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กับนายเหรียญ สืบพันธุ์ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความ ยืนยันว่า การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่คัดค้านนี้ได้เป็นไปโดยชอบและถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วเสนอความเห็นว่า ควรยกคำร้องเพราะการเลือกตั้งได้เป็นไปโดยชอบ
ศาลฎีกาเห็นว่า บัดนี้ ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ก่อนมีการปฏิวัติตามประกาศของหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ซึ่งให้สมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรเป็นอันสิ้นสุดลงทั่วราชอาณาจักรและได้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ อำนาจนิติบัญญัติอยู่ในอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มีบทบัญญัติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คำขอของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับการเป็นไปได้ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการเลือกตั้งที่ร้องจะชอบหรือไม่
ให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย