แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดฐานละเมิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ขับรถบรรทุกโดยประมาทเลินเล่อชนรถโจทก์เสียหาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้และขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความอ้างว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมที่ 2 และเมื่อศาลอนุญาตแล้วจำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1แต่เพียงผู้เดียว ทั้งให้การต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยร่วมที่ 2ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย อุทธรณ์ดังกล่าวนอกจากจะโต้แย้งโจทก์แล้วยังโต้แย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันด้วย การที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแก้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แล้วย้อนสำนวนให้ดำเนินการใหม่เสียให้ถูกต้องตามมาตรา 243(2),247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี จำเลยที่ 4เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2538 เวลา 6.30 นาฬิกาโจทก์นั่งรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ว-2134 กรุงเทพมหานครของโจทก์ โดยมีภริยาโจทก์เป็นผู้ขับไปตามถนนสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย มุ่งหน้าเข้าจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อถึงสามแยกตัดกับถนนเลี่ยงเมือง (สามแยกพืชผล) ภริยาโจทก์ได้ชะลอความเร็วของรถลง แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถบรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน80-7205 ศรีสะเกษ ในกิจการงานและทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4และที่ 5 ตามหลังรถโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ชะลอความเร็วของรถลงเป็นเหตุให้รถบรรทุกน้ำมันที่จำเลยที่ 1ขับมาด้วยความเร็วชนท้ายรถโจทก์อย่างแรงพังเสียหาย และเป็นเหตุให้รถโจทก์กระเด็นไปกระแทกท้ายรถบรรทุกสิบล้อซึ่งชะลอความเร็วอยู่ด้านหน้ารถโจทก์ ทำให้ด้านหน้ารถโจทก์พังเสียหายด้วย นอกจากนี้บุตรสาวของโจทก์ซึ่งนั่งอยู่เบาะหลังใบหน้าและคางกระแทกกับเบาะ เป็นเหตุให้เลือดกำเดาออกคางฟกช้ำ หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งห้าตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแก่โจทก์ ช่วงระหว่างซ่อมรถ โจทก์ได้เช่ารถของ ช. วัฒนาศูนย์รวมรถเช่าอัตราวันละ 800 บาท เป็นเวลา40 วัน คิดเป็นค่าเช่า 32,000 บาท โจทก์จ่ายค่าซ่อมเครื่องโทรสารเป็นเงิน 2,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลบุตรสาวของโจทก์เป็นเงิน 200 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 113,418 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 121,218 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 113,418 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่เนื่องจากก่อนเกิดเหตุขณะที่จำเลยที่ 1ขับรถตามหลังรถโจทก์ใกล้จะถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้มีรถบรรทุกสิบล้อขับแซงรถบรรทุกน้ำมันที่จำเลยที่ 1 ขับและรถโจทก์ไปทางขวามือในระยะกระชั้นชิดใกล้กับสามแยกซึ่งมีเกาะกลางถนนและเร่งความเร็วแซงและปาดหน้ารถโจทก์กลับเข้าช่องทางเดิมเพื่อไม่ให้ชนเกาะกลางถนน เป็นเหตุให้รถโจทก์ซึ่งถูกปาดหน้าชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าว ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังขับอยู่ห่างจากรถโจทก์ในระยะพอสมควร แต่จากการที่รถโจทก์ชนกับรถบรรทุกสิบล้อและหยุดอย่างกะทันหันทำให้จำเลยที่ 1ไม่อาจหยุดรถได้ทัน รถที่จำเลยที่ 1 ขับลื่นไถลไปชนกับรถโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้เรียกนายเดชศักดิ์ นามมหาชัย ผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ และนางนางแซ่เตียว เจ้าของรถบรรทุกสิบล้อคู่กรณีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายเดชศักดิ์ว่า จำเลยร่วมที่ 1และเรียกนางนางว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ว-2134 กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยร่วมที่ 2 ไม่อาจทราบได้ว่ารถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์และจำเลยทั้งห้ากล่าวอ้างถึงเป็นรถคันหมายเลขทะเบียนใด และเป็นรถของจำเลยร่วมที่ 2 หรือไม่ทำให้จำเลยร่วมที่ 2 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง และรถคันดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยร่วมที่ 2 ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมเหตุคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1ผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากรถของจำเลยที่ 1 ขับตามรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ว-2134 กรุงเทพมหานคร ด้วยความเร็วสูงไม่สามารถชะลอความเร็วของรถได้ทัน จึงเป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ว-2134 กรุงเทพมหานครและรถยนต์คันดังกล่าวกระเด็นไปชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 93,418 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 78,348.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยร่วมทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งห้าที่ว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 แต่ไม่ได้สั่งให้แต่ละฝ่ายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำแก้อุทธรณ์คงสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์แก้อุทธรณ์แต่ฝ่ายเดียวแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไปเป็นการที่ศาลไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดฐานละเมิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ขับรถบรรทุกน้ำมันโดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเดชศักดิ์นามมหาชัย จำเลยร่วมที่ 1 ลูกจ้างของนางนาง แซ่เตียว จำเลยร่วมที่ 2 ที่ขับรถบรรทุกสิบล้อแซงปาดหน้ารถโจทก์ในที่คับขัน จนเกิดเหตุคดีนี้ และขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)เพื่อวินิจฉัยว่าความประมาทเลินเล่อเกิดจากฝ่ายใด และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกแล้ว จำเลยร่วมที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ในขณะเดียวกันก็ให้การต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมซึ่งเป็นการโต้แย้งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้า แสดงให้เห็นว่าทั้งสามฝ่ายต่างโต้แย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้ายังคงอุทธรณ์อ้างว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยทั้งห้าไม่ต้องรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย อันจะเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 นอกจากจะโต้แย้งโจทก์แล้วยังโต้แย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันด้วย ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แต่ละฝ่ายทำการแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 โดยไม่สั่งให้จำเลยแต่ละฝ่ายส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วย้อนสำนวนให้กลับไปดำเนินการใหม่เสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2), 247 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3จำเลยทั้งห้าก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2ให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองและจำเลยทั้งห้า แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีและให้ยกฎีกาของโจทก์